ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งนั่นคือ เอื้องสายหลวงใต้ Dendrobium anosmum Lindl. โดยกล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 - 1,300 เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางข้าง รากกึ่งรากอากาศ กอโปร่ง ลำลูกกล้วยยาวถึง 120 เซนติเมตร ห้อยลงเป็นสายยาว ใบ รูปรีแกม ขอบขนาน ปลายใบแหลม
ช่อดอก ออกที่ข้อทุกข้อค่อนไปทางปลายของลำลูกกล้วย แต่ละช่อมี 1–2 ดอก ดอก สีม่วงอ่อนถึงม่วงเข้ม ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง รูปหอกแกมรูปรี กลีบดอก รูปหอก สีเข้มกว่ากลีบเลี้ยง ขอบกลีบหยักเป็นริ้วละเอียด กลีบปาก รูปกลม ปลายแหลม ขอบกลีบไม่มีหู ขอบกลีบม้วนเข้าหากันจนมองดูคล้ายหลอด (สายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอบแผ่ออกไม่ ม้วนเข้าหากัน)
ตรงกลางแต้มด้วยสีม่วงเข้มทั้งสองด้าน ฐานเป็นแถบสีม่วง ปลายกลีบยื่นแหลมออกมาอาจมากหรือน้อย ผิวกลีบ ด้านในมีขนสีม่วงอ่อนปกคลุมด้านนอก มีขนเฉพาะบริเวณขอบกลีบ ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีม่วงเข้ม พบในป่าดิบเขา ป่าผลัดใบ และ ป่าดิบชื้น ระดับต่ำ ๆ ช่วงเวลาที่ออกดอกมักจะผลัดใบ ออกดอก เมษายน - มิถุนายน
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช