(2 ก.พ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยจำนวนประชาชนที่ถูกวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งในปี 2020 รวมอยู่ที่ 19.3 ล้านราย และคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะ “เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า” ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง
อังเดร อิลบาวี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคขององค์การฯ เปิดเผยข้อมูลในวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ทั่วโลกภายในปี 2040
“มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก” โดยกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางต้องแบกรับภาระนั้นหนักหน่วง ขณะจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยกลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่มีบริการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 30 สวนทางกับกลุ่มประเทศรายได้สูงที่ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 สามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้
นอกจากนั้นกลุ่มประเทศยากจนมักตรวจพบโรคมะเร็งในระยะสุดท้ายแล้ว แม้ “โรคมะเร็งหลายชนิดมีโอกาสรักษาหาย หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม” ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการป้องกันโรคมะเร็งของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง
“การไม่สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาที่มีคุณภาพและราคาไม่แพงเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)” อิลบาวีเผย
ผลสำรวจล่าสุดขององค์การฯ พบว่าการระบาดใหญ่ทั่วโลกสร้างปัจจัยเชิงลบแก่การรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจาก “การรักษาโรคมะเร็งของประเทศกลุ่มสำรวจกว่าร้อยละ 40 ต้องหยุดชะงักลง”
อิลบาวีชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงกว่า