เรียกว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่ตามข่าวประเด็นร้อนอย่าง เมียหลวงบุกงานแต่ง ที่เมียหลวงนั้นได้ถือทะเบียนสมรสไปยืนยันตัวเองในขณะที่สามีกำลังจะแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น ทำให้เกิดคำถามว่า ตามข้อกฎหมายแล้วฝ่ายชายไปแต่งงานใหม่ได้หรือไม่
สืบเนื่องจากปมดราม่าขึ้นต้นนั้น สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ว่า การที่สามี หรือภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้แอบไปจัดงานแต่งงานกับหญิงหรือชายอื่น ในงานมีแขกมีเพื่อน มีญาติพี่น้องมาร่วมแสดงความยินดี พฤติการณ์เช่นนี้ทางกฎหมายถือว่า ชายหรือหญิงคนนั้นได้ยกย่องชายหรือหญิงอื่นอย่างสามี หรือภริยาของตนแล้ว
หากเกิดกรณีเช่นนี้ สิทธิตามกฎหมายของสามี หรือภริยาตามกฎหมาย มีดังนี้
1. สามารถฟ้องหย่าสามีหรือภริยาได้ (ป.พ.พ. 1516(1))
2. สามารถฟ้องชายหรือหญิงอื่น เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
3. สามารถฟ้องสามีหรือภริยา เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
4. สามารถฟ้องทั้งสามีหรือภริยา และชายหรือหญิงอื่น เพื่อเรียกค่าทดแทนพร้อมกันก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
5. ถ้าการหย่าทำให้ สามีหรือภริยายากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ (ป.พ.พ. มาตรา 1526 และฎีกาที่ 8046/2556)
ดังนั้น การที่สามี หรือภริยา ที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย แอบไปจัดงานแต่งงาน กับชาย หรือหญิงอื่น นั้นไม่สามารถทำได้ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการหักหาญน้ำใจของอีกฝ่ายอีกด้วย