นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ"สถานการณ์แรงงาน"ปี63 ว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานในปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% หรือมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคนและชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง
โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
แม้ไตรมาส 4 ปี 2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ ขณะที่ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง
โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวน 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงาน ขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 0.1%
ส่วนหนี้สินครัวเรือน ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ