เรียกว่าคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี ถ้าเอ่ยถึงชื่อ "เบคกี้ รัสเซลล์" หรือ "รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร" อดีตดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งตอนนี้นั่งแท่นกรรมการบริหารองค์กร ในเครือสหพัฒน์ฯ และนอกจากจะเป็นนักการตลาดอย่างเต็มตัวแล้ว ล่าสุด ยังผันตัวเป็นไลฟ์โค้ช (Life Coach) มืออาชีพระดับอินเตอร์ หรือหลายคนเรียกว่า โค้ชเบคกี้ Professional Certified Coach (โค้ชที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ) จาก ICF Certified Coach (ACC) , Certified Points of You (ICF) ,Marketing Director ICF ที่มีประสบการณ์มานาน กว่า 5 ปี และยังคงพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังศึกษาระระดับปริญญาเอก สาขาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยเจ้าตัวได้พูดถึงการเป็นไลฟ์โค้ชให้ฟังว่า “จุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้ามาเป็นไลฟ์โค้ชเต็มตัว คือ ตอนนั้นเราได้ตั้งคำถาม และ หาคำตอบกับตัวเอง ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจของเรา อะไรที่เราอยู่ด้วยได้นานๆ แล้วมีความสุข จนได้มาศึกษาด้านนี้แบบเจาะลึก จริงๆแล้ว โค้ชชิ่ง มันคือกระบวนการ บางครั้งคนเราไม่ต้องเก่งในเรื่องราวเหล่านั้นเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องฝึก ก็คือ ฝึกฟัง เวลาฟังไม่ใช่ฟังในสิ่งที่พูด แต่ต้องฟังไปถึงสิ่งที่เค้าไม่ได้พูดออกมา หน้าตา แววตา อากัปกริยา แบบนี้หมายความว่ายังไง แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา เราต้องได้ยิน คำถามที่ดี คือ คำถามที่คนตอบไม่ได้โดยทันที ต้องตั้งคำถามให้คนที่ตอบได้ใช้เวลาคิด แล้วมันจะทำให้เค้าได้ใช้กระบวนการ ได้ไตร่ตรอง เพราะมันมีโอกาสได้เกิดจุดเปลี่ยน ทำให้เค้าออกมาจากอุปสรรคของเค้าได้
ปัจจุบันได้ไปเรียนเพิ่มด้านจิตวิทยาคำปรึกษา เพราะปัญหาที่หลายคนมาปรึกษามีหลากหลาย อาทิ ไม่มีความสุขในชีวิต แรงบันดาลใจหายไป วางแผนเรื่องลูก เรื่องงาน ปัญหาชีวิต จนถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ เราเองจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาคนอื่นได้ ซึ่งบางคนแค่มีคนคอยรับฟังปัญหา เค้าก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว สำหรับการโค้ชชิ่งมีทั้งตัวต่อตัว และ พูดในที่สาธารณะ แต่ละประเภทก็จะใช้เทคนิคคนละแบบ บางครั้งเราจะใช้การ์ดในการช่วยแก้ปัญหา ซึ่งการ์ดพวกนี้จะมีรูป สามารถสะท้อนความรู้สึก อะไรบางอย่างของคนที่มาปรึกษาเรา บางคนอาจจะคิดไม่ออก พอเห็นรูปแล้วก็อาจจะทำให้เค้าคิดออก และไปต่อได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเครื่องมืออีกแบบหนึ่งในการทำโค้ชชิ่ง (Coaching) ค่ะ
การเป็นไลฟ์โค้ชที่ดี ก็คือการได้เป็นนักฟังที่ดี นักถามที่ดี เพื่อที่จะดึงเอาศักยภาพของคนที่ถูกโค้ชออกมา ให้เขาได้เป็นเจ้าของแพลน แผนงานในชีวิตของตัวเองได้ ไลฟ์โค้ชต้องมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซัพพอร์ตว่าแผนที่เราแนะนำไป เขาได้ทำหรือยัง เริ่มเมื่อไหร่ เริ่มอย่างไร ทำแล้วสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จ เราต้องกลับมาคุยกันใหม่ จริงๆแล้วการโคชชิ่ง (Coaching) เหมือนเป็นการสร้างกระบวนการ มีทั้งการถาม การฟัง การสะท้อนกลับและ มีการปฏิบัติ เราจะคอยซัพพอร์ตเขาจนเรามั่นใจได้ว่า เขาจะประสบความสำเร็จในแผนงานของเขาค่ะ”