สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ทรงเปิดงานสัมมนาวิชาการ “ครบรอบ 10 ปี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ โดยเป็นการปรับรูปแบบในการจัดงานช่วงที่มีการระบาดของโรค โควิด-19 โอกาสนี้พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาและทรงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน”
จากนั้นทอดพระเนตรการบรรยายผ่านโปรแกรมออนไลน์ จาก ดร.ไมเคิล ฟริซ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิวิจัยน้อย ประเทศเยอรมนี และ นางซิบลี ไซเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้แทน 8 ภาคี เข้ารับพระราชทานบันทึกข้อตกลง (MOA) ประกอบด้วยผู้แทนจาก มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และ บี.กริม (B.Grimm) ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงที่ทำต่อเนื่องมาเป็นฉบับที่ 3 ที่ทำร่วมกับมูลนิธินักวิจัยน้อย ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒดำเนินการในการรับและส่งสัญญาณออนไลน์จากที่ต่างๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับชม โดยมีผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นและคณะทำงานของโครงการกว่า 3,500 คน จาก 238 เครือข่ายทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม
จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการผ่านโปรแกรมออนไลน์ ประกอบด้วย วีดิทัศน์ครบรอบ 10 ปี บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย และผลงานของผู้ร่วมโครงการจำนวน 3 นิทรรศการ ได้แก่ ผลงาน กิจกรรมของครูปฐมวัยที่โดดเด่นที่สะท้อนการประยุกต์เข้ากับบริบทท้องถิ่นและสังคมจาก 13 โรงเรียน นิทรรศการกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ 9 หัวข้อที่โครงการทำใน 9 ปีแรกมาเชื่อมโยงกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และผลงานโครงงานของนักเรียนระดับประถมศึกษาที่โดดเด่นจำนวน 6 ผลงาน
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย โดยเริ่มต้นมีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 221 โรงเรียน ปัจจุบันขยายผลสู่ 29,129 โรงเรียน ใน 238 ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นแล้ว
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้ขยายโครงการไปทั่วประเทศ อีกทั้งมีองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ปฐมวัยเพิ่มขึ้นมากมาย จากความสำเร็จในการวางรากฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนอนุบาลไปทั่วประเทศแล้วยังมีการเผยแพร่โครงการสู่ระบบครอบครัวโดยได้จัดทำรายการโทรทัศน์ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” เป็นรายการวิทยาศาสตร์สำหรับ เด็กปฐมวัย นำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชันที่สอดแทรกการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายและมีการทดลองวิทยาศาสตร์ในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ลงลึกสู่ครอบครัวมากขึ้น ผู้ปกครองได้ร่วมทดลองไปกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นการการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่รักและเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด โดยออนแอร์ทุกวันอาทิตย์ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รวมถึงได้มีการจัดงานเทศกาลวันบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยมีความร่วมมือกับภาคีที่เข้มแข็งจากประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย และได้หว่านเมล็ดพันธุ์ “จิตวิทยาศาสตร์” ให้แก่เยาวชนไทยตั้งแต่ปฐมวัย ผู้ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์และมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาโดยอาศัยทักษะที่กิจกรรมบ้านวิทยาศาสตร์น้อยได้ปลูกฝังให้แก่เด็กปฐมวัย ควบคู่ไปกับการสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์หลายประการ อาทิ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่องาน การทำงานเป็นทีม ความรักธรรมชาติ และเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการได้มีการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการจัดการเรียนรู้ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมได้สร้างแรงผลักดันในการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และช่วยเสริมสร้างเจตคติทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนระดับอนุบาลในการศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรของประเทศในอนาคต