จากกรณีวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันช้างไทย โดยริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานองค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทย ร่วมกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น รวมถึงเป็นการยกย่องให้เกียรติช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้โพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าเรื่องว่า ช้างป่าตัวหนึ่งที่เขาเคยเข้าไปรักษาในป่า จนกระทั่งเวลาผ่านไปได้มาเจอช้างตัวเดิมอีกครั้ง ปรากฏว่าช้างตัวดังกล่าวจำตัวเองได้ มีการยื่นงวงมาทักทาย ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวประทับใจ โดยทางหมอล็อต ได้ระบุเรื่องราวดังนี้
"12 ปี หลังจากที่รักษาช้างป่าตัวนี้ เคสแรกในช้างป่า จากการป่วยด้วยโรค Trypanosomiasis คือโรคปรสิตในเลือด เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดที่พบในกระแสโลหิตของสัตว์คือเชื้อ Trypanosoma evansi ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด
อาการทั่วไปที่พบได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมโซ บวมน้ำโดยเฉพาะบริเวณคาง คอหรือท้อง ตาอักเสบหรือขุ่น ขาแข็ง หลังแข็ง คอบิด โลหิตจางอาจตายอย่างเฉียบพลันได้ และที่สำคัญ เป็นโรคอันตราย สามารถติดสู่ช้างป่าและสัตว์ป่าตัวอื่นๆ ได้ ใช้เวลารักษานานกว่าจะเข้าถึงตัวเพื่อรักษาได้ ก็ชิงไหวชิงพริบอยู่นานมาก ช้างป่าตัวนี้ฉลาดสุดๆ มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นมากมาย
ล่าสุด ได้มาเจอกันอีกครั้ง เราจำกันได้…ทักทายกัน (วินาทีที่สัมผัสกัน ผมได้ยินเสียงร้องของช้างป่าตัวนี้ ในโทนเสียงที่ไม่เคยได้ยินจากช้างตัวไหนมาก่อน ประหลาดใจ) 13 มีนาคม วันช้างไทย รักช้างอย่าลืมให้กำลังใจคนทำงานกับช้าง ในความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์นะครับ"
ขอบคุณ FB : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน