วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 นาฬิกา นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงข้อสงสัย กรณีการปล่อยตัวพักโทษ ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ว่าเป็นการได้รับสิทธิพิเศษแตกต่างจากนักโทษคนอื่น และปฏิบัติสองมาตรฐานหรือไม่ นั้น
นายอายุตม์ กล่าวว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้เคยชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เกี่ยวกับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าเป็นไปตามประโยชน์ของผู้ต้องขัง ตามกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๗ วรรคสอง และข้อ ๑๘ รวมถึงมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่ให้ประโยชน์แก่นักโทษเด็ดขาดทุกรายที่แสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ มีความก้าวหน้าในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้น การลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษ ซึ่งกรณีของนายสรยุทธฯ นั้น ได้รับประโยชน์ดังกล่าวจากการทำหน้าที่ผลิตสื่อ “เรื่องเล่าชาวเรือนจำ” และ “กำลังใจสู่ชาวเรือนจำ” เผยแพร่ให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศได้รับรู้ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึง และเป็นการผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดวิตกกังวล อันเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจส่งผลให้ผู้ต้องขังก่อเหตุจลาจลขึ้นได้
กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงต่อว่า การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้นที่นายสรุยุทธได้รับ เป็นโครงการสำหรับนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป จำคุกครั้งแรกที่ได้รับโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษ และเหลือโทษที่ต้องได้รับต่อไปอีกไม่เกิน ๕ ปี ซึ่งในขณะพิจารณาการพักการลงโทษ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีกำหนดโทษตามคำพิพากษา ๖ ปี ๒๔ เดือน ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๖๓ ทั้ง ๒ รอบ คงเหลือโทษจำคุกครั้งหลังสุด ๓ ปี ๖ เดือน ๒๐ วัน เมื่อหักวันต้องโทษจำคุกมาแล้ว จึงเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก ๒ ปี ๔ เดือน ๑๔ วัน จึงถือว่ามีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ และได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) และต้องประพฤติปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากกรณีของนายสรยุทธ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษในโครงการเดียวกันนี้แล้วกว่า 13,000 ราย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประเด็นข้อข้องใจว่าการพักการลงโทษของ นายสรยุทธเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานหรือไม่
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า การพิจารณาเพื่อพักการลงโทษในทุกโครงการ กรมราชทัณฑ์มีระเบียบและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะพิจารณาที่ความประพฤติ และการทำประโยชน์ต่อทางราชการเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำความผิด ความรุนแรงของคดี และการกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อนแล้วด้วย โดยในกรณีคู่คดีของนายสรยุทธ ทั้ง 2 รายที่เป็นประเด็นสงสัย กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามระเบียบเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้ง 2 ราย
มีกำหนดโทษที่แตกต่างกับนายสรยุทธ จึงส่งผลให้ระยะเวลาในการเข้าเกณฑ์พักการลงโทษในโครงการฯ ดังกล่าวไม่พร้อมกัน รวมถึงความประพฤติ และการทำความชอบแก่ทางราชการตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยขอยืนยันอีกครั้งว่า การพิจารณาพักการลงโทษ ไม่ได้เป็นการพิจารณาจากกรมราชทัณฑ์เพียงหน่วยงานเดียว โดยต้องผ่านการพิจารณาอีกชั้นจากคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ อันประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะ อนุกรรมการฯ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงยุติธรรมเป็นคณะอนุกรรมการฯ รวม ๑๙ ท่าน นอกจากนั้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกชั้นหนึ่ง จึงจะถือว่าได้รับการพักการลงโทษ
ขอบคุณภาพ
NationPhoto