สำนักข่าวซินหัวของประเทศจีนรายงานว่า การศึกษาโดยองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) ระบุว่าการนำสาหร่ายสีแดง (Asparagopsis taxiformis) ซึ่งพบได้บริเวณนอกชายฝั่งของออสเตรเลีย มาเป็นอาหารเสริมแก่วัว สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้มหาศาล
คณะนักวิจัยพบว่าการให้สาหร่ายดังกล่าวเป็นอาหารเสริมสำหรับวัวในสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.25 ในช่วงเวลากว่า 147 วัน ส่งผลให้การเกิดก๊าซมีเทนลดลงโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 และเมื่อเพิ่มสัดส่วนสาหร่ายเป็นร้อยละ 0.5 ในช่วงเวลาเท่ากันก็ส่งผลให้การปล่อยก๊าซมีเทนลดลงถึงร้อยละ 74 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพหรือรสชาติของเนื้อสัตว์
ร็อบ คินลีย์ หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของฟิวเจอร์ ฟีด (Future Feed) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างองค์การวิจัยฯ บริษัทวิจัยมีต แอนด์ ไลฟ์สต็อก ออสเตรเลีย (Meat and Livestock Australia) และมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก (James Cook University) ที่มุ่งเน้นผลิตอาหารเสริมจากสาหร่ายทะเลเพื่อลดก๊าซมีเทนกล่าวว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยนั้นเยี่ยมยอดมาก
คินลีย์ให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี (ABC) ว่า “มีเพียงสาหร่ายตัวนี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดที่สามารถทำได้เทียบเคียง ไม่มีแม้สารประกอบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายทะเลตัวอื่นหรือสารเคมี (สังเคราะห์) ที่สามารถลดระดับก๊าซมีเทนได้มากขนาดนี้โดยไม่ทำร้ายสัตว์” “ก๊าซมีเทนไม่ใช้สิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ มันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการ” เขากล่าว
อนึ่ง สาหร่ายดังกล่าวมีโบรโมฟอร์มในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารเคมีที่สามารถหยุดยั้งการผลิตก๊าซมีเทนได้ การปล่อยก๊าซมีเทนจากปศุสัตว์คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ฟิวเจอร์ ฟีด ระบุว่าการใส่สาหร่ายดังกล่าวไว้ในอาหารสัตว์อย่างกว้างขวาง จะมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งในการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก องค์กรระบุในเว็บไซต์ของพวกเขาว่า “หากผู้ผลิตปศุสัตว์ร้อยละ 10 เพิ่มสาหร่ายสายพันธุ์นี้เป็นอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องเพียงร้อยละ 1 ทุกวัน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเทียบเท่าการเลิกใช้รถยนต์ 100 ล้านคันเลยทีเดียว”