หนวดขนาดใหญ่และแปลกตาของแมลงตัวนี้แตกต่างจากแมลงสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งที่เป็นฟอสซิลหรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับวิวัฒนาการและการสาบสูญ ตลอดจนมอบข้อมูลด้านการอยู่รอดตามธรรมชาติของแมลงที่กว้างยิ่งขึ้น
ผลการศึกษาในวารสารนานาชาติไอไซเอนซ์ (iScience) เมื่อเดือนมกราคม ระบุว่าหนวดหายากดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ส่วน ยาว 6.78 มิลลิเมตร ซึ่งยาวกว่าลำตัวของแมลงตัวนี้ ทั้งยังยาวกว่าส่วนหัวราว 12.3 เท่า และกว้างกว่า 4.4 เท่า
คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหนวดของแมลงสายพันธุ์นี้ (Magnusantenna wuae) อาจเป็นทั้งคุณและโทษต่อการมีชีวิตรอด
ปู้เหวินจวิน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยหนานไคของจีน ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่าแมลงในยางไม้นี้อาจพรางตัวเป็นกิ่งก้านที่มีใบไม้ ซึ่งถือเป็นการพรางตัวจากกลุ่มนักล่าที่มีเอกลักษณ์ ซับซ้อนกว่าการพรางตัวเป็นใบไม้หรือกิ่งก้านอย่างเดียว
การค้นพบครั้งนี้จะเป็นหลักฐานแสดงวิวัฒนาการของความหลากหลายทางพฤติกรรมของแมลงภายใต้กระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ
หวงต้าเว่ย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัย ชี้ว่าหนวดนี้อาจช่วยให้แมลงรับสัญญาณทางเคมี พรางตัวตามต้นไม้ และคัดเลือกเพศ แต่ใช้พลังงานสูง ทำให้เคลื่อนที่ช้า และโดดเด่นเกิน ส่งผลให้สาบสูญตามการคัดสรรของธรรมชาติ
คณะนักวิจัยทิ้งท้ายว่าการค้นหาตัวอย่างแมลงที่มีหนวดขนาดใหญ่กว่าลำตัวเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ขอบคุณ xinhuathai