สถานกักกัน ตม.บางเขน ตรวจเชิงรุกวันเดียว พบติดเชื้อโควิดพุ่ง 297 คน

23 มีนาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานกักกัน ตม.บางเขน ตรวจเชิงรุกวันเดียว พบติดเชื้อโควิดพุ่ง 297 คน รวมสะสมแล้วกว่า 395 ราย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ พร้อมสั่งตั้งรพ.สนามที่สโมสรตำรวจ 120 เตียง

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานกักกันตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บางเขน กรุงเทพฯ ว่าที่ผ่านมามีการตรวจผู้ต้องกักตามมาตรฐาน โดยวันที่ 6 มี.ค. 64 ตรวจผู้ต้องกักชาวเนปาล 1 ราย ไม่พบเชื้อ แต่เมื่อตรวจซ้ำวันที่ 11 มี.ค. พบว่าติดเชื้อ โควิด-19 และในวันเดียวกันยังตรวจพบผู้ต้องกักเดิมติดเชื้ออีก 2 ราย และผู้ต้องกักรายใหม่ที่ย้ายมาจากสุไหงโกลกก็ติดเชื้ออีก 6 ราย


เมื่อมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ในวันที่ 13 มี.ค. มีการตรวจผู้ต้องกักที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากกลุ่มที่มาจากสุไหงโก-ลก 137 คน พบติดเชื้อ 40 คน รวมกับการตรวจผู้ต้องกักแรกรับ 129 ราย พบติดเชื้อ 12 ราย จากนั้นวันที่ 15 มี.ค. มีการตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ต้องกักชาวเนปาล 44 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำรวมกับเจ้าหน้าที่ 14 ราย พบติดเชื้อ 16 ราย

ส่วนการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในสถานกักกัน โดยตรวจผู้ต้องกักและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ยังไม่ได้รับการตรวจในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยวันที่ 18 มี.ค. ตรวจ 501 ราย พบติดเชื้อ 19 ราย วันที่ 19 มี.ค. ตรวจ 549 ราย พบติดเชื้อ 2 ราย และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ตรวจ 506 ราย พบติดเชื้อ 297 ราย ซึ่งตัวเลขของวันที่ 20 มี.ค. ยังไม่ได้รายงานต่อ ศบค. 

สถานกักกัน ตม.บางเขน ตรวจเชิงรุกวันเดียว พบติดเชื้อโควิดพุ่ง 297 คน


สรุปการตรวจเชื้อวันที่ 6-15 มี.ค. ตรวจ 333 ราย พบติดเชื้อ 77 ราย คิดเป็น 23.1 % ส่วนวันที่ 18-20 มี.ค.ตรวจ 1,556 ราย พบติดเชื้อ 318 ราย คิดเป็น 20.43% รวมทั้งหมดเป็น 395 ราย

สำหรับการป้องกันควบคุมโรคได้มีการแยกผู้ต้องกักที่ติดเชื้อออกจากผู้สัมผัส งดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องกักระหว่างห้อง งดรับผู้ต้องกักรายใหม่ ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้ง รพ.สนามในพื้นที่สโมสรตำรวจจำนวน 120 เตียง แต่สามารถขยายได้ถึง 250 เตียง  และเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ต้องกัก ขณะนี้ฉีดแล้วมากกว่า 70 คน และกรมควบคุมโรควางแผนดำเนินการตรวจซ้ำใน 7 วัน และ 14 วันต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ การให้อยู่โรงพยาบาลสนามถือว่ามีความเหมาะสม เมื่อครบระยะเวลาก็ไม่สามารถแพร่โรคต่อได้ จะผลักดันกลับประเทศตามกฎหมาย