กรมประมง เตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง
ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เผยผลการศึกษาพบมาตรการฯ ที่บังคับใช้ เหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูลการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร
ประมงได้อย่างยั่งยืน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนที่กรมประมงได้มีการประกาศใช้มาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2528) โดยได้มีการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากสถิติการเก็บข้อมูลทางวิชาการ จำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำพบว่ามีจำนวนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งมาจากด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน ทั้งความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ สภาพแวดล้อมความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้ง อาจจะมีเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ด้วย ประกอบกับจากการติดตามสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละปีหลังจากมาตรการปิดอ่าวพบว่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุของปริมาณสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมประมง จึงได้มีการออกประกาศ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในมาตรการปิดฝั่งทะเลอันดามันให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยพื้นที่การประกาศใช้มาตรการฯครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ระยะเวลา 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี และได้กำหนดชนิดของเครื่องมือประมงซึ่งไม่กระทบกับพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ ให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ดังนี้
1.เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2.เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางวันและทำการประมงนอกเขต ทะเลชายฝั่ง
3.เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ
ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก
5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาเฉพาะท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. ลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่งคราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน ต่อเรือกล 1 ลำ ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560
10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เป็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงตามประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวง
เกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ยกเว้นอวนครอบอวนช้อน หรืออวนยก
ปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องมือเครื่องมือทำการประมงที่กำหนดห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมงวิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้าใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560
ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67 69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
อธิบดีกรมประมง...กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวทะเลอันดามัน จนกระทั่งท้องทะเลค่อยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน โดยดูได้จากผลการศึกษาของกรมประมง พบว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำในกลุ่มปลาหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า ปลาใบขนุน ปลากระเบน ปลาจักรผาน ปลาเห็ดโคน ปลาตะเภาข้างลาย ปลาสาก ปลาจวด และ ปลาครืดคราด ฯลฯ มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผนวกกับข้อมูลของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่และช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตรการฯ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน นั้นมีส่วนช่วยทำให้ประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลได้ อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เมื่อภาครัฐดำเนินการและภาคประชาชนขานรับให้การสนับสนุน การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะเกิด ความสมดุลของกำลังการผลิตจากธรรมชาติ เกิดความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และเกิดความยั่งยืนของการประกอบอาชีพประมง ถึงแม้ในปีนี้ กรมประมงจะไม่ได้ประกอบพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากร สัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2563 เนื่องจากการเกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 แต่การใช้มาตรการตามประกาศฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วย....อธิบดีฯ กล่าว
ขอบคุณกรมประมง