ILRS จะสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อเป็นฐานที่ใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงในระยะยาว เช่น การสำรวจดวงจันทร์ การใช้ประโยชน์จากดวงจันทร์ การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์จากดวงจันทร์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานบนดวงจันทร์ และการทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าโครงการ ILRS จะนำโดย CNSA (จีน) และ Roscosmos (รัสเซีย) แต่ทั้งสองฝั่งก็พร้อมสนับสนุนให้ชาติอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ เสริมสร้างและแลกเปลี่ยนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสำรวจอวกาศของมนุษย์และการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอวกาศในเชิงสันติ แต่ประกาศเกี่ยวกับโครงการ ILRS จากทาง CNSA และ Roscosmos ต่างไม่ระบุเวลาที่จะเริ่มต้นและเสร็จสิ้นการสร้างสถานีวิจัยที่ดวงจันทร์
ในปัจจุบันนี้ องค์การ NASA ของสหรัฐฯ กำลังดำเนินโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) เพื่อนำมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งหากโครงการดำเนินไปได้ตามแผน จะสามารถส่งนักบินอวกาศถึงพื้นผิวดวงจันทร์ภายในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2020 และสร้างพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั้งบนพื้นผิวดวงจันทร์และในวงโคจรรอบดวงจันทร์ในท้ายทศวรรษนี้ และ NASA หวังว่าสิ่งที่ได้จากโครงการอาร์ทิมิสจะช่วยสนับสนุนการส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2030
ทาง NASA ได้ดำเนินโครงการอาร์ทิมิสของสหรัฐฯ พร้อมกับประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายบริษัท และอีก 7 ชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร และแคนาดา ขณะที่ประเทศบราซิล ก็แสดงท่าทีต้องการมีส่วนร่วมในโครงการอาร์ทิมิสด้วย
นอกจากความร่วมมือทางอวกาศระหว่างรัสเซียและจีนครั้งนี้ รัสเซียมีความร่วมมือด้านอวกาศกับสหรัฐฯ มาก่อน โดยเฉพาะโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ทางผู้บริหารของ Roscosmos กล่าวว่ารัสเซียไม่น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอาร์ทิมิส
ขณะที่ความร่วมมือทางอวกาศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถเป็นไปได้เลย เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฏหมายในสหรัฐฯ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้องค์การ NASA และสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว ร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศกับประเทศจีน นอกจากทางสภาคองเกรสสหรัฐฯ จะอนุมัติมาก่อน
นอกจาก 3 ชาติข้างต้นแล้ว ยังมีชาติในภูมิภาคอื่น ๆ ที่พยายามสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ อย่างฝรั่งเศสที่ศูนย์การศึกษาอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES) ในฐานะองค์การอวกาศแห่งชาติได้ตกลงในโครงการความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศกับจีน และกลุ่มชาติยุโรปกำลังพยายามสร้างพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อให้ภูมิภาคนี้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกขั้วหนึ่งในด้านเทคโนโลยีอวกาศ นอกจากสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน
ที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อ้างอิง 1 https://www.space.com/russia-china-moon-research-station... / 2 https://www.dw.com/.../russia-china-agree-to.../a-56819466