เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 เพจเฟซบุ๊ก "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง โดยมีการระบุว่า นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดงที่มีส่วนผสมจากเนื้อไก่ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากตลาดสด และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2563 นำส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite)
โดยผลทดสอบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) พบ 1 ตัวอย่าง มีปริมาณกรดเบนโซอิก 119.91 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คือ ยี่ห้อ หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/24-10-20) และยังพบกรดซอร์บิกปริมาณ 3.69 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอีกด้วย ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณกรดซอร์บิกน้อยกว่า 1.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ไม่พบกรดเบนโซอิก คือ ยี่ห้อ SAVEPAK (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/27-10-20)
นอกจากนี้ ยังตรวจพบไนไตรท์ (Nitrite) เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด ไปเล็กน้อย 1 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อ CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/06-11-20) พบปริมาณไนไตรท์ เท่ากับ 80.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มก./กก.)
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกแดง เบื้องต้นให้สังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดจนเกินไป และสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าว่ามีข้อความ "ไม่ใช้วัตถุกันเสีย" หรือไม่ โดยหากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้วัตถุกันเสียเลยก็จะเป็นการดี นอกจากนี้การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณพอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค