จากกรณีการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดต้อนรับวันหยุดสงกรานต์ 2564 ซึ่งรอบนี้ เป็นการติดจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ จนทำให้ต้องออกมาคุมเข้มในเรื่องของมาตรการการคัดกรองโควิดอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ทำให้ใครหลายคนมีข้อสงสัยว่า หากป่วยด้วยการติดเชื้อโควิดจะมีอาการแตกต่างจากอาการป่วยไข้แบบอื่นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูความแตกต่างเพื่อแยกแยะได้ถูกว่าแบบไหนเรียกว่าเข้าข่ายโควิด-19 เพื่อที่จะได้รับมือได้เร็วและรีบไปตรวจหาเชื้อได้ทัน
1. อาการป่วย "โควิด-19"
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็น การคัดจมูก เจ็บคอ ไอ และมีไข้ ส่วนบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีอาการปอดบวมหรือหายใจลำบากร่วมด้วย โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง), ไอแห้งๆ, ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย, ไอมีเสมหะ, หายใจลำบาก, เจ็บคอ, ปวดหัว, จมูกไม่ได้กลิ่น, ลิ้นไม่รับรส
- ผู้ป่วยโควิด-19 (หมายถึงมีผลตรวจเป็นบวกแล้ว) พบมี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) ได้ถึง 2 ใน 3
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการอื่นๆ (ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล) ไม่มาก จะพบว่ามี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) เป็นอาการหลักถึง 30%
2. อาการป่วย "โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่"
ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) และ ไข้หวัดใหญ่ (Flu) ต่างก็เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่แตกต่างกันที่ชนิดของไวรัส โดยไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดได้จากไวรัส Rhinoviruses และ Coronaviruses ที่เป็นสาเหตุร้อยละ 10-15 ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากไวรัส Influenza A และ Influenza B
อาการไข้หวัดธรรมดา: ไข้ต่ำๆ คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม เจ็บคอ คอแดง ทอนซิลอาจบวมแดงแต่ไม่มีหนอง ไอเล็กน้อย ปวดหัวเล็กน้อย อาการทั่วไปมักไม่รุนแรง และหายได้เอง
อาการไข้หวัดใหญ่: เกิดอาการทางจมูกและคอได้บ้างในบางครั้ง แต่จะมีอาการเด่นชัด คือ มีไข้สูงลอย (37.8-39.0 องศาเซลเซียส) ไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดหัวหนัก ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก ไอรุนแรง ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก (ใกล้เคียงกับอาการของโรค "COVID-19" ต้องให้แพทย์วินิจฉัย)
3. อาการป่วย "โรคภูมิแพ้, แพ้อากาศ"
ในกรณีของการแพ้อากาศนั้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเอง ซึ่งทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่สามารถพบได้จากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ฝุ่น อากาศเย็น อากาศร้อน และละอองเกสร ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการส่วนใหญ่ คือ จาม น้ำมูกไหล คันยุบยิบๆ บริเวณตา จมูก แต่ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ ไม่เหนื่อยหอบ
4. อาการป่วย "โรคไข้เลือดออก"
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ แต่จะเบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน นอกจากนี้ อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ กล่าวคือ มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)