จากกรณีการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดต้อนรับวันหยุดสงกรานต์ 2564 ซึ่งรอบนี้ เป็นการติดจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นจำนวนมาก จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมาเตือนสถานบริการและร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้คุมเข้มในเรื่องของมาตรการการคัดกรองโควิด
ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า หากเกิดอาการ "ไอ" แบบไหนจะเสี่ยงเป็นโควิด-19 เพราะนั่นเป็นอีกจุดสังเกตที่บ่งบอกถึงโรคนี้ แต่ก็ไม่ใช่การไอจะเสี่ยงทุกรูป วันนี้เราจะพาไปดูความแตกต่างของการไอแต่ละแบบ สามารถบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง
1. ไอแห้ง (เสี่ยงโควิด-19)
"ไอแห้ง" มีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ไม่มีเสมหะ อาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน เวลาไอจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างติดที่ลำคอ รู้สึกคัน หรือระคายคอ คอแห้ง เสียงอาจแหบ รู้สึกอยากจะกลืนน้ำลายบ่อยๆ ทั้งนี้ การไอแห้ง เป็นหนึ่งในอาการที่พบในโรค "โควิด-19" เท่านั้น แต่อาการทั่วไปของโรคโควิดนอกจากการไอแห้งแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง)
- ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย
- ไอมีเสมหะ
- หายใจลำบาก
- เจ็บคอ
- ปวดหัว
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- ลิ้นไม่รับรส
2. ไอมีเสมหะ
เป็นอาการไอร่วมกับของเหลวเป็นเมือกเหนียวข้นออกมาขณะไอด้วย โดยเมือกเหนียวๆ ที่ออกมาพร้อมตอนไอ ก็คือ เสมหะ หรือ เสลด ซึ่งเมื่อเราไอแบบมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย จะทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก ทั้งนี้ การไอแบบมีเสมหะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคหืด
- สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ
- อยู่ในที่เย็นหรือที่ชื้นเป็นประจำ หรือเข้าฤดูหนาวอากาศเย็นลง
- การระคายเคือง หรือ ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ
- โรคหลอดลมอักเสบ
- ปอดบวม หรือปอดอักเสบ
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ไซนัสอักเสบ
อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการป่วยใน 5-6 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจใช้เวลานานถึง 14 วันจึงจะแสดงอาการ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาดและมีแนวโน้มว่าจะแพร่ระบาดระลอกใหม่แบบนี้ ไม่ว่าจะมีอาการไอแห้งหรือไม่ก็อย่าลืมสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ