ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง รัฐบาลไม่ขัดข้องหากเอกชนรายใดจัดหาวัคซีนมาได้ องค์การอาหารและยา(อย.) ก็พร้อมจะตรวจรับรองเพื่อออกใบอนุญาตให้
ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปริมาณสูงกว่าการผลิตของทุกรายรวมกัน ผู้ผลิตทุกรายที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก กำลังเร่งผลิตส่งให้ประเทศต่างๆ ที่สั่งซื้อไว้ ทำให้เอกชนเองก็หาวัคซีนไม่ได้
วัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายเป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) คือหากเกิดอะไรขึ้นจากการใช้วัคซีนกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต
ดังนั้น รัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลกจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือเป็นสินค้าสาธารณะ(Public Goods) ยังไม่ใช่สินค้าเชิงพาณิชย์ (Commercial) และอีกประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังคือ การกระจายการสั่งซื้อไปยังภาคเอกชน ต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาประชาชนได้รับวัคซีนปลอม
นอกจากนั้น ผู้ผลิตวัคซีนหลายรายไม่ขายให้เอกชนรายย่อย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสันห์ประกาศว่าในระยะแรกจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น ส่วนของจีนก็ต้องมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้สั่งซื้อ
แม้รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็ยังพยายามจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนประชาชน แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตต้องเร่งผลิตส่งให้ประเทศที่จองเอาไว้แล้ว
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ อย. รับรองและขึ้นทะเบียนในไทย รวม 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอซตร้าเซนเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง (Rolling Submission) คือของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
และยังมีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือ วัคซีนโมเดอร์นา จากสหรัฐฯ วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ จากรัสเซีย และวัคซีนซิโนฟาร์ม จากจีน