ล่าสุดทางด้านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ภาพโต้แย้งกับกรณีดังกล่าวโดยมีเนื้อหาระบุว่า..
ยังมีอยู่เรื่อยๆ นะครับ ที่มีการเอาสารเคมียาฆ่าเชื้อ มาฉีดพ่นยาตามถนน ตามที่สาธารณะ ด้วยความที่เชื่อกันว่าป้องกันโรคโควิด-19 ได้ (อย่างล่าสุดนี่ ถึงขนาดเอาไปพ่นกันตามป่าตามเขาเลย) ซึ่งก็เตือนอยู่ตลอดว่า ไม่ควรทำนะครับ ! เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลอะไรในการควบคุมโรค (แหล่งแพร่เชื้อโรคคือร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ ควรควบคุมตรงการคลุกคลีกันระหว่างผู้คนมากกว่า)
ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเชื้อไวรัสสามารถตายได้โดยไม่ยาก ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงและแสงแดดจัด และที่สำคัญคือ ทำให้หลงเข้าใจผิดว่าป้องกันโรคได้ ทำให้คนในชุมชนอาจไม่ระมัดระวังตนเองเพียงพอ หลังจากเคยมีการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อไปแล้ว (มันเป็นการฆ่าเชื้อโรค ไม่ใช่เป็นการป้องกันเชื้อมาปนเปื้อนในบริเวณนั้น) แถมจะมีอันตรายแก่ประชาชนและสัตว์เลี้ยง ที่สูดดมหรือสัมผัสสารเคมีเข้าไปได้ด้วยนะครับ วิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค covid 19 นี้ ก็คือ การควบคุมระยะห่างจากสังคม ลดกิจกรรมที่จะมีการรวมกลุ่มของผู้คน ดูแลสุขอนามัยในการอยู่ร่วมกัน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วครับ
เอาคำเตือนเดิมๆ ของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มารีโพสต์เรื่อยๆ ครับ (จาก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย) ขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วย COVD-19 ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ด้วยความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อใน สถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย จึงเกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะช่วยทำลายเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า
ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้
1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ
2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด
นอกจากนี้ หากในบริเวณนั้นมีเสมหะ หรือสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่ยังไม่แห้ง การฉีดพ่นน้ำยา อาจทำให้เชื้อฟุ้งกระจายขึ้นมา เป็นอันตรายได้ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ตามรายละเอียดนี้ https://www.idthai.org/Contents/Views/...