ซิงหลี่ต้า นักบรรพชีวินวิทยาประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (CUG) และสมาชิกทีมวิจัย เผยว่า “ลานเต้นรำ” ดังกล่าวเป็นพื้นที่ขุดค้นขนาด 100 ตารางเมตร โดยสามารถจำแนกรอยเท้าไดโนเสาร์ได้ราว 200 รอย
ความหนาแน่นของรอยเท้าไดโนเสาร์เช่นนี้บ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจเคยเป็นเส้นทางเดินตะลอนร่อนเร่ของเหล่าไดโนเสาร์ในช่วงระยะสั้นของยุคครีเทเชียสตอนปลาย (Late Cretaceous)
มีการสังเกตเห็นรอยเท้าไดโนเสาร์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน นำไปสู่การจำแนกรอยเท้าไดโนเสาร์ที่กลายเป็นฟอสซิลกว่า 240 รอย และค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์เพิ่มอีก 364 รอย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กว่า 600 รอย บนพื้นที่ขนาดใหญ่ราว 1,600 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหลงเซียงของอำเภอซ่างหาง โดยคาดว่าอาจมีการค้นพบเกิน 1,000 รอย
ซิงกล่าวว่ารอยเท้ากลุ่มหนึ่งมีอายุ 80 ล้านปี เชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์อย่างน้อย 8 ชนิด อาทิ ไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) ไดโนเสาร์เทโรพอด (Theropod) ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และไดโนเสาร์ออร์นิโธพอด (Ornithopod)
ขณะรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ กินพืชเป็นอาหาร มีคอยาวควบคู่กับหางและลำตัว ที่อาจยืดยาวสูงสุด 20 เมตร
นอกจากนั้นนักวิจัยยังค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่ยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร เชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์ที่มีเท้าเหมือนนกและลำตัวยาว 1 เมตร
คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพื้นที่ขุดค้นแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ขุดค้นรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและความหลากหลายมากที่สุดของจีน ซึ่งมีอายุย้อนกลับถึงยุคครีเทเชียสตอนต้น
เฉินรุ่นเซิง รองผู้อำนวยการสำนักการสำรวจทางธรณีวิทยาฝูเจี้ยน และสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่าพื้นที่แห่งนี้มีโครงสร้างตะกอนทางธรณีวิทยาที่อุดมสมบูรณ์ บ่งชี้ว่าเคยอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ไดโนเสาร์มักมากินอาหารและน้ำ
ทั้งนี้ เฉินเสริมว่าอาจมีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่รอยเท้าอีกมากในพื้นที่แห่งนี้