นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียง ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์มีส่วนสำคัญในการดูแลเรื่องเตียงผู้ป่วยโควิดพื้นที่ กทม. โดยประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1. เตียงของรพ.เอกชน 2. เตียงของรพ.ในสังกัดกทม. 3.เตียงของรพ.สังกัดกรมการแพทย์ 4.เตียงในรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย โดยทั้ง 4 ส่วนนำเตียงมารวมกัน และเกิดสายด่วน ขึ้นมา 3 สาย คือ 1668 กรมการแพทย์ 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. และ 1330 สปสช.
ซึ่งการแบ่งระดับอาการผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง ถือเป็นการช่วยบริหารจัดการดูแลอย่างเหมาะสม ลดปัญหาเตียง โดยกลุ่มผู้ป่วย สีเขียว คือ ผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ ไม่มีโรคร่วม อาการดีหมด เราก็จะส่งไปยังรพ.สนาม หรือฮอสพิเทล ซึ่งที่นั่นจะมีเครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด ท่านสามารถวัดเองได้ และท่านสามารถพูดคุยกับแพทย์ได้ทุกวัน เพราะแม้เราจะทำรพ.สนาม หรือฮอสพิเทล แต่มาตรฐานยังต้องสูง สีเหลือง คือ จะเป็นการเวียนกัน หากรพ.ไหนเต็มก็เวียนในเครือข่าย จริงๆ เหลืองกับแดงก็จะเวียนกันรับผู้ป่วย
กลุ่มสีเขียว จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก และจากระบบบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น จากการไปค้นหาในชุมชนหรือไปตรวจในระบบบริการ ไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างจะนำเข้า รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล (Hospitel)
กลุ่มสีเหลือง มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000
กลุ่มสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง
ขอบคุณ
hfocus