รายงานการวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า จุดเริ่มต้นของการวิจัยมาจากทีมผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาและตั้งคำถามถึงมาตรการที่ทาง WHO แนะนำเกี่ยวกับวิธีลดโอกาสการแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะ 6 ฟุต หรือประมาณ 2 เมตร นั้นได้ผลจริงหรือไม่
โดยนักวิจัยได้ใช้สูตรการคำนวณความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ภายในอาคาร หรือสถานที่แบบปิด จากปัจจัยต่าง ๆ (ทั้งหมด 10 ประการ) พบว่า เมื่ออยู่ในอาคารสถานที่แบบปิด การเว้นระยะห่างทางสังคม อาจไม่เป็นประโยชน์ที่จะลดการเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไม่ว่าจะอยู่ห่างกัน 2-20 เมตร ก็ตาม
ผลการวิจัยยังเผยด้วยว่า ตอนนี้ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องระยะห่างอีกต่อไป แต่เป็นระยะเวลาที่ใช้ร่วมกัน ยิ่งอยู่กับผู้มีเชื้อนานเท่าไหร่ โอกาสติดเชื้อก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น อย่างเช่น การนั่งในร้านอาหาร หรือทำงานในห้องเดียวกันเป็นระยะเวลานาน โดยที่อากาศไม่ถ่ายเท มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง แม้ว่าจะสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้วก็ตาม
สาเหตุเนื่องจาก เมื่ออยู่ร่วมกันในอาคารแบบปิด หากมีคนพูดคุย หายใจ หรือตอนถอดหน้ากากอนามัยออกเพื่อดื่มน้ำ กินข้าว ละอองของเชื้อโควิด-19 จะเดินทางผ่านอากาศและหมุนเวียนที่อยู่ภายในห้อง ซึ่งการเปิดหน้าต่างออก หรือใช้พัดลมเป่าช่วยให้อากาศถ่ายเท ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้เครื่องกรองอากาศ