จากกรณีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด 19 (COVID - 19) ที่ตอนนี้แพร่ระบาดอย่างหนักอีกระลอก ทำเอาประเทศไทยปั่นป่วนอย่างหนัก ซึ่งจากการแพร่ระบาดในรอบนี้ ทำให้หลายพื้นที่ได้ประกาศแจ้งถึงบุคลากรและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ต่อมา นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์ มีการโพสต์รายละเอียดถึงลักษณะทางคลินิกที่น่าสนใจของโควิด 19 ระลอกล่าสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. พบ Happy Pneumonia บ้าง กล่าวคือ เป็นภาวะของปอดติดเชื้อ แต่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ถ้าอยู่ในช่วงพักหรือออกแรง ก็ไม่พบค่าออกซิเจนต่ำลง ทว่าเมื่อเอกซเรย์ในปอดจะมีร่องรอยของโรคแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว
2. พบ non-dyspnogenic (happy) hypoxemia ได้บ้าง กล่าวคือ มีสภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงได้บ้างขณะที่ไม่ได้ออกแรง แต่อัตราการเต้นของหัวใจกลับไม่สูง ไม่มีหอบเหนื่อย โดยปกตินั้น เมื่อปอดมนุษย์เรามีค่าออกซิเจนในปอดต่ำลง มันควรมีอาการเหนื่อยหรือหายใจถี่ ๆ แต่กรณีนี้จะไม่มีการแสดงอาการอะไรออกมา จนกว่าจะได้เอ็กซเรย์ปอดนั่นเอง เชื่อว่า สาเหตุคือ เชื้อผ่านเข้าทางจมูกหรือกระแสเลือด แล้วไปทำให้ศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง ไม่รับรู้การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติไปแล้ว (สำหรับการวัดออกซิเจนนั้น หากต่ำกว่า 95% ถือว่าผิดปกติแล้ว)
3. พบอาการ Sinus bradycardia หรืออาการหัวใจเต้นช้า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
ล่าสุด นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รอบนี้ ส่วนใหญ่เชื้อลงปอด และมีประมาณครึ่งหนึ่งที่มีภาวะปอดอักเสบ
สำหรับการสังเกตนั้น สามารถสังเกตได้ในช่วง 1-5 วันแรก ปอดเริ่มอักเสบระยะแรกอาการจะไม่หนัก มีอาการไอ ส่วนปอดอักเสบระยะที่ 2 อยู่ในช่วง 10-15 วัน ถ้ารุนแรงจะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ปอดทุกวัน จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ แพทย์จะเฝ้าระวังอาการช่วง 10 วันแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีไวรัสลงปอด หรือปอดอักเสบรุนแรงระยะที่ 2
ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ยาต้านโควิด หรือยาฟาร์วิพิราเวีย แล้วมีอาการตอบสนองแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน แต่ที่ต้องระวัง คือ คนอ้วน คนสูงอายุ คนมีโรคเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการหนักกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดความรุนแรงโรค