ทนายรณรงค์ เผยว่า.. เรื่องนี้ต้องดูถึงคำสั่งของนายจ้างก่อน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อด้วยการให้ลูกจ้างบางส่วนทำงานที่บ้าน ซึ่งต้องดูถึงเวลาทำงานของแต่ละสำนักงานด้วย บางที่ก็ 8.30-17.30 แตกต่างกันไป
ทีนี้ในการทำงาน WFH นั้น ก็อาจจะมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่นอาจจะต้องประชุมเพิ่มขึ้น อาจมีการสั่งห้ามไม่ให้ออกไปข้างนอกในเวลางาน ห้ามนัดเจอกับผู้คนเยอะๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ผมมองว่าคำสั่งที่ห้ามออกไปข้าง หรือห้ามเจอผู้คนเยอะๆในเวลางาน เป็นคำสั่งข้อบังคับการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วการที่ลูกจ้างออกไปนัดเจอเพื่อนฝูงที่ห้าง ในเวลางาน แล้วติดเชื้อโควิดเนี่ย หากออกไปในเวลาส่วนตัว หลังเลิกงานนี่ ไม่มีปัญหา แต่หากออกไปในเวลางาน แบบนี้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างนะครับ
ประเด็นต่อมาที่จะต้องพิจารณาก็คือ การฝ่าฝืนคำสั่งข้อนี้ ไม่ร้ายแรง หรือร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (4) หรือไม่
กรณีที่มองว่าฝ่าฝืนคำสั่งก็จริง แต่ไม่ร้ายแรง นายจ้างจำเป็นจะต้องทำหนังสือเตือนก่อน จะไปเลิกจ้างหรือไปตัดเงินเดือนเลยไม่ได้ แต่ในกรณีที่มองว่าเป็นกรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งร้ายแรง แบบนี้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินเดือน หรือค่าชดเชยได้
ซึ่งผมมองว่ากรณีนี้ “เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างกรณีร้ายแรง” เพราะเหตุใดที่มองเช่นนั้น ก็เพราะว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่โรคระบาด ภาครัฐก็ขอความร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ภาคเอกชนก็ต้องสนองรับนโยบาย ปรับเปลี่ยนการทำงานกันไป ด้วยการให้ลูกจ้าง WFH เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด
ทีนี้สั่งให้ลูกจ้าง WFH แล้ว หากลูกจ้างไม่ทำตาม กลับออกไปข้างนอก กิน เที่ยว ช๊อป ปกติ แล้วเมื่อกลับมาที่บริษัท แล้วเอาเชื้อมาแพร่ระบาด ทำให้บริษัท โรงงาน หรือสายการผลิตต้องหยุดไปทั้งหมด แบบนี้ ลูกจ้างจะรับผิดชอบไหวไหม
ผมไม่ได้เขียน เพื่อเอาใจนายจ้างนะครับ ว่ากันตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเลย ถึงแม้ว่านายจ้างจะไม่มีสิทธิหักค่าจ้างก็ตาม (ม.76) แต่นายจ้างมีสิทธิไล่ออกเลิกจ้างนะครับ
ที่มา : เฟซบุ๊ก ทนายคู่ใจ