วันนี้ (6 พ.ค.2564) กลุ่มเฟซบุ๊ก อำนาจผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา ระหว่างมาสด้าและลูกค้า คดีละเมิดไขข่าว และใช้สิทธิเกินส่วน เรียกค่าเสียหาย 84 ล้าน ซึ่งปรากฏว่า ศาลไม่รับคำร้องของบริษัทมาสด้า เนื่องจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่นนั้น ได้มีการเรียกคือรถมาสด้า มาสด้า 2 Skyactiv ดีเซล จากตลาดผู้บริโภคเมื่อเห็นว่ามีปัญหา แต่มาสด้าประเทศไทยกลับฟ้องลูกค้า เมื่อลูกค้านำปัญหามาตีแผ่
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์และมีคำสั่งเป็นที่ยุติเด็ดขาด ไม่รับคำร้องอนุญาตฎีกาของมาสด้า เนื่องจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ขัดกับคำพิพากษา ให้ยกคำร้องและให้คืนคำฟ้องฎีกาพร้อมค่าธรรมเนียมในชั้นฎีกาแก่โจทก์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีดังกล่าว เนื่องจากจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง โดยคำพิพากษาสรุปความได้ว่า "ในสมัยปัจจุบันอันมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องป้องกัน กว่ามาตรการควบคุมทางสังคมแต่ดั้งเดิมในอดีต"
ทั้งนี้ ศาลมองว่า การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ ผ่านกระบวนการทางศาล โดยมีคำขอท้ายฟ้องในลักษณะเช่นนี้ น่าเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ทั้งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการขาดจริยธรรมทางธุรกิจ และธรรมาภิบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบธุรกิจที่ดี ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมทางธุรกิจของบริษัทแม่ของโจทก์ในประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกคืนรถยนต์รุ่นมาสด้า 2 Skyactiv ดีเซล จากตลาดและผู้บริโภค เมื่อพบว่าสินค้ารถยนต์ดังกล่าวมีปัญหา
แต่พฤติการณ์ของโจทก์ รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องต่อจําเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค น่าจะเป็นแรงสะท้อนกลับส่งผลต่อความมั่นคงในการประกอบธุรกิจของโจทก์ในประเทศไทย ตามที่โจทก์หวาดกลัวอันกระทบถึงผลกำไรไปสู่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้ในท้ายที่สุด พฤติการณ์เช่นนี้ จึงมิควรได้รับการรับรอง คุ้มครองหรือสนับสนุนแต่อย่างใด