กรณีเมื่อ7พ.ค.64 ที่จังหวัดมุกดาหาร เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ที่บ้านสามขา ต.คำป่าหลาย อ.เมือง ได้พบว่า วัวป่วยเป็นโรคประหลาดจำนวนมาก โดยลักษณะอาการป่วยคล้ายเป็นโรคผิวหนัง มีตุ่มนูนทั่วทั้งลำตัว และน้ำลายยืดเป็นฟอง ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ ซึ่งในตอนนี้ที่หมู่บ้านมีวัวที่เป็นโรคนี้รวมแล้วประมาณ 50 ตัว พร้อมวิงวอนปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร หรือคนที่มีความรู้เข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันโรคดังกล่าวด้วย
โดย นายเขียน พาลึก อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว บ้านสามขา หมู่ 17 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร เล่าว่า ตนเลี้ยงวัวทั้งหมด 10 ตัว เป็นพันธุ์ลูกผสม และป่วยเป็นโรคลักษณะเดียวกันนี้ แต่ยังไม่มีตัวไหนตาย มีอาการหนักอยู่ 1 ตัว ซึ่งอาการแรกๆที่ตัวของวัวจะขึ้นเป็นตุ่มเล็กน้อยและจากนั้นก็จะลุกลามไปทั่วทั้งลำตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนไม่เคยพบเจอโรคแบบนี้มาก่อน คิดว่ามันคงเป็นตุ่มธรรมดาๆไม่นานก็คงหายเป็นปกติ
แต่ต่อมามีการระบาดลุกลามไปยังวัวตัวอื่นๆ จึงรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ไม่รู้จะช่วยเหลือวัวได้อย่างไร โดยวัวที่เป็นโรคนี้นั้นมักจะเป็นวัวที่มีอายุประมาณ 5 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนวัวที่อายุมากกว่านั้นเป็นแล้วก็หาย ถ้าเป็นวัวอายุไม่เยอะจะตาย
ความคืบหน้าล่าสุดนั้น ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเลี้ยงโค กระบือ เฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน โดยให้เกษตรกรป้องกันไม่ให้แมลงดูดเลือด เช่น เห็บ เหลือบ แมลงวันดูดเลือด และ ยุง มากัดโค กระบือ ใช้น้ำยาฆ่าแมลงดูดเลือด พ้น ราดหลังในตัวสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดคอก กำจัดมูลที่เป็นแหล่งพันธุ์ และที่สำคัญใช้ตาข่ายกางมุ้งเพื่อป้องกัน ไม่ให้แมลงดูดเลือดเข้ามากัดสัตว์เลี้ยงได้
โดย นายพิภพ เพียวิเศษ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า พื้นที่ตำบลคำป่าหลาย ซึ่งพบว่ามีการเกิดโรคลัมปีสกิน เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดสัตว์) ซึ่งทางปศุสัตว์จังหวัดพร้อมด้วยเทศบาลตำบลคำป่าหลาย ได้มีการปรึกษาพร้อมกับหาแนวทางการแก้ไข และป้องกันโรคที่เกิดในสัตว์โดยจะมีการออกสำรวจสัตว์ที่เป็นโรคพร้อมกับออกแนะนำการให้ความรู้กับชาวเกษตรกรที่เลี้ยงวัว
สำหรับ โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส 𝘓𝘶𝘮𝘱𝘺 𝘴𝘬𝘪𝘯 𝘥𝘪𝘴𝘦𝘢𝘴𝘦 𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 ในสกุล 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘱𝘰𝘹𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา
นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
การติดต่อของโรคนี้ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
วิธีการป้องกันโรค คือ การกำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง และกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าพื้นที่ โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคจะมีการนำเข้ามาในประเทศที่มีการระบาดของโรคแล้ว
โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ต้องเเจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป “รู้เร็ว สงบโรคเร็ว”
ขอบคุณ
อนุศักดิ์-เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.มุกดาหาร
อ่านข่าวต้นฉบับ