คืบหน้า คลัสเตอร์ใหม่ โรงงานสับปะรดกระป๋องที่หัวหิน สั่งกักตัวพนง. 402 คน

08 พฤษภาคม 2564

ความคืบหน้ากรณีพบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานสับปะรดกระป๋องที่หัวหิน ล่าสุดมีคำสั่งกักตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงรวมทั้งสิ้น 402 คน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

จากกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่โรงงานสับปะรดกระป๋อง ของบริษัท ควอลิตี้ ไพน์แอปเปิ้ล โปรดักส์ ริมถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี หมู่ที่ 3 บ้านหนองนกน้อย ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตรวจพบเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ที่ต่อเนื่องจากสถานบันเทิงในเมืองหัวหิน พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มลูกจ้างชาวเมียนมา จำนวน 115 ราย จากการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 257 คน จากนั้นได้นำผู้ป่วยทั้งหมดไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ภายในอาคารโรงเรียนพานิชยการใกล้โรงพยาบาลหัวหินที่เหลือมีคำสั่งให้กักตัว ดูอาการ
 

ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุดวันที่ 8 พ.ค. 2564 นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดที่ 4634 /2564 ตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่โรงงานสับปะรดฯ เพื่อปิดสถานที่ภายในโรงงาน หยุดสายการผลิตชั่วคราว ใช้กักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งคนไทยและชาวเมียนมา เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-20 พ.ค. หากมีการผ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ตามมาตรา 18

และได้มอบหมายให้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่บูรณาการและมอบหมายให้โรงพยาบาลในจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เข้ามาประจำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ มอบหมายให้นายอำเภอหัวหินจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลหินเหล็กไฟ (อบต.หินเหล็กไฟ) รับผิดชอบเบิกจ่ายค่าอาหาร ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาด

นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์ สสจ. ได้เดินทางลงพื้นที่โรงงานสับปะรดกระป๋องดังกล่าว ร่วมกับ อบต.หินเหล็กไฟ เพื่อดำเนินการจัดตั้งสถานที่กักตัวภายในโรงงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆในอำเภอหัวหิน บูรณาการความร่วมมือเพื่อกักกันผู้มีความเสี่ยงตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างเข้มงวดห้ามบุคคลผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า-ออกในพื้นที่เด็ดขาด

ทั้งนี้มีพนักงานในโรงงาน 593 คน (พนักงานรายเดือนคนไทย 53 คน พนักงานรายวัน 540 คน) แต่เป็นชาวเมียนมา 523 คน หลังการคัดกรองพบว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัวในโรงงานทั้งหมด 402 คน 

แบ่งเป็นผู้ที่อยู่ในบ้านพักของโรงงานแล้ว 202 คน และต้องเรียกคนงานจากหลายพื้นที่เข้ามากักตัวเพิ่มอีก 200 คน โดยห้ามบุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออกภายในสถานที่กักตัวผู้มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็ดขาด ยกเว้นหากผู้กักตัวมีอาการเจ็บป่วยต้องนำส่งโรงพยาบาล หรือยกเว้นเฉพาะเจ้าหน้ารับส่งอาหารเท่านั้น ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ขอบคุณ พอใจ จันทนา ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ประจวบคีรีขันธ์