ความชัดเจนในเรื่องนี้ ได้รับการอธิบายจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ภายหลังทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีคำสั่งให้หยุดงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ
นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งนี้เป็นประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหานี้ นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี
แต่หากนายจ้างเลิกจ้างงาน เพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 หรือสงสัยว่างติดเชื้อ ย้ำตรงนี้ว่า มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ มิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง และเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
หากลูกจ้างมีปัญหาเกี่ยวกับการถูกนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสภาพการจ้างต่าง ๆ สามารถสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่
ที่มา ไทยคู่ฟ้า