แต่ถึงแม้มีการตรวจพบเชื้อในสุนัข แต่ไม่มีหลักฐานการแพร่เชื้อต่อจากน้องหมามาสู่คน หรือน้องหมาสู่น้องหมาหรือสู่สัตว์อื่น ๆ ข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โดยโพสต์คลิปวิดีโอน้องหมาพันธุ์ไทยสีขาวดำขณะนอนรักษาตัวอยู่ในกรง พร้อมข้อความระบุว่า น้องหมาของเค้าได้รับเชื้อก่อโรคโควิด-19 จากเค้า
จากข้อมูลนี้ "ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์" จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการยืนยันว่า "เป็นเรื่องจริง"
โดยทางคณะสัตวแพทย์จุฬาฯ ได้ชี้แจงข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีผู้พาน้องหมามาผ่าตัดขาเนื่องจากเป็นมะเร็ง หลังการผ่าตัดเพื่อนบ้านเจ้าของน้องหมาได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าเจ้าของน้องหมาเป็นโควิด-19 ทีมงานของศูนย์โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจโควิด-19 กับน้องหมาด้วยการป้าย Swap จากก้น ปาก ซึ่งก็ยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อ
จากนั้นในวันที่ 3 พ.ค. ทางทีมงานได้เก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ซึ่งพบปริมาณไวรัสที่ยังไม่มาก และได้เก็บตัวอย่างเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 4 พ.ค. จากการป้ายจมูกพบว่ามีปริมาณไวรัสที่สูงและเป็นผลบวก
เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าน้องหมาตัวดังกล่าวได้รับเชื้อก่อโรคโควิด-19 จึงได้ส่งตัวน้องหมาเข้ารับการรักษาและดูแลต่อที่ศูนย์ฝึกนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโซนห้องกักโรคอยู่ใน Isolation Area เพื่อติดตามโรค และรักษาตามอาการ ซึ่งจะต้องคอยดูว่าหลังจากนี้ปริมาณของไวรัสจะลดลงหรือไม่
จากการได้รับเชื้อดังกล่าว ทางทีมแพทย์คาดว่าน้องหมาน่าจะได้รับเชื้อมาจากการที่เจ้าของป้อนอาหาร โดยมักมีการเป่าอาหารให้ก่อน หรืออาจจะให้กินอาหารที่เหลือจากเจ้าของซึ่งถือว่าเป็นการสัมผัสโดยตรง
แต่ทั้งนี้ทุกคน #อย่าตื่นตระหนก จนเกินไปนะคะ เพราะจากรายงานที่พบในต่างประเทศระบุว่า น้องหมาที่ตรวจพบเชื้อจะไม่แพร่เชื้อต่อ และจะไม่ค่อยแสดงอาการ
สำหรับน้องหมาตัวที่ได้รับเชื้อก่อโรคโควิด-19 นั้น ตอนนี้เริ่มมีอาการทางเดินระบบหายใจเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับอายุที่ค่อนข้างมาก แต่น้องยังกินอาหารได้ตามปกติ การรักษาจะเป็นไปตามอาการ แต่สิ่งปฏิกูลที่ออกมาจากตัวน้องหมาจะมีการปนเปื้นของไวรัสด้วย ดังนั้นผู้ที่ดูแลจะต้องกักบริเวณน้องหมา และไม่ไปสัมผัสกับเขาโดยตรงค่ะ
สำหรับแนวทางปฏิบัติถ้าหากน้องหมาของเรามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ เจ้าของควรกักบริเวณน้องหมา เพื่อลดการปนเปื้อนสู่ภายนอก หากจะเข้าหาน้องหมาต้องใส่ถุงมือ และต้องเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด รวมถึงควรทำความสะอาดบริเวณที่น้องหมาอยู่เพื่อลดการปนเปื้อนด้วยค่ะ
นอกจากนี้คุณหมอต้นสัตวแพทย์ประจำเว็บไซต์ Dogilike ได้ให้แนวทางการป้องกันไม่ให้น้องหมาต้องเสี่ยงได้รับเชื้อจากเจ้าของ โดยให้เจ้าของที่มีการติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรแยกตัวออกจากน้องหมา รวมถึงลดการสัมผัสน้องหมาโดยตรง เพื่อไม่ให้เอาเชื้อไปแพร่ต่อสุนัข และลดโอกาสไม่ให้มีการติดโรคจากคนสู่สัตว์ค่ะ นอกจากนี้ควรให้ญาติ หรือเพื่อน ดูแลน้องหมาแทน หรืออาจจะนำไปฝากเลี้ยงก่อนก็ได้ เพื่อความปลอดภัยของน้องหมาค่ะ
คุณหมอต้นยังฝากบอกมาอีกนะคะว่า สำหรับการได้รับเชื้อจากเจ้าของสู่น้องหมานั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ไม่ได้ติดง่าย ๆ จึงไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกกันเกินไป แต่อยากให้ใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเอาเชื้อมาแพร่ให้หมา และที่สำคัญอย่าวิตกกังวลเพราะจะทำให้เสียสุขภาพจิตได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Dogilike รู้จริงเรื่องน้องหมา