สัญญาฉบับใหม่กำหนดให้สหภาพยุโรป (EU) เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 และส่วนประกอบสำคัญของวัคซีนต้องมาจากกลุ่มประเทศสมาชิก พร้อมวางเงื่อนไขรับประกันการส่งมอบทันเวลา นับตั้งแต่เริ่มจัดส่งในปี 2022
ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกสามารถจำหน่ายหรือบริจาควัคซีนแก่นานาประเทศนอกภูมิภาค หรือผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อช่วยทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน
“สัญญาในอนาคตกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นจะมีรูปแบบเดียวกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย” อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว
สเตลลา คีเรียคิเดส กรรมาธิการด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป เสริมว่าอียูให้ความสำคัญกับ “เทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่า” อย่างวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) แต่ยังคงเปิดกว้างแก่ตัวเลือกอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ อียูลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนกับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซาโนไฟ-จีเอสเค (Sanofi-GSK) แจนเซน ฟาร์มาซูติกา เอ็นวี (Janssen Pharmaceutica NV) เคียวแวค (CureVac) และโมเดอร์นา (Moderna)
คณะกรรมาธิการฯ อนุมัติการวางจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไข สำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โมเดอร์นา (Moderna) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson&Johnson)
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่หลากหลายเหล่านี้ช่วยรับประกันว่าอียูจะสามารถเข้าถึงวัคซีนในปริมาณเพียงพอจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรทั้งหมด รวมถึงโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ต่างๆ
ที่มา xinhuathai