วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 มีรายงานว่าสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีการประชาสัมพันธ์เรื่อง นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพยายามวิจัยคุณสมบัติของเลือดตัวเงินตัวทอง เพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งและไวรัสโควิด-19 หากบรรลุผลตามเป้าหมายก็จะเป็นรายแรกของโลกที่ทำแบบนี้
ส่วนสาเหตุทำไมถึงใช้เลือดตัวเงินตัวทองเป็นสมมติฐาน เพราะว่า ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิตและอยู่ได้แม้น้ำเน่าเสีย ดังนั้น จึงมีความน่าสนใจที่ จะเริ่มศึกษาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของมัน สำหรับผลการวิจัยจากการใช้เลือดเพียงเล็กน้อย พบว่า มีฤทธิ์การยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และเชื้อแบคทีเรียบางชนิด อาจต่อยอดเพื่อจัดการโรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดในขณะนี้ได้ ถ้าหากสามารถพัฒนายาใหม่ ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มความหวังกับมนุษย์
ทั้งนี้ ตัวเงินตัวทองกำลังสูญพันธุ์จากการถูกล่า จนได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และอนาคตข้างหน้า จะเกิด พ.ร.บ. ที่ทำให้ตัวเงินตัวทองกลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือดตัวเงินตัวทองต่อไป โดยระบบจะมีการแยกชัดเจนระหว่างตัวเงินตัวทองที่อยู่ในธรรมชาติกับตัวเงินตัวทองในระบบฟาร์ม ในการวิจัยระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามาก