เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีกับ ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ครอบคลุมหลายกลุ่ม ที่มีฐานสำคัญอยู่ในประเทศไทยและจีน ซึ่งในประเทศไทยนั้นมี “ธนินทร์ เจียรวนนท์” เป็นผู้ปลุกปั้นให้อาณาจักรซีพีกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ และได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ และเป็นที่แน่นอนว่าประเทศจีนคือประเทศแรกที่ซีพีเลือกเข้าไปลงทุน และกลายเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งซีพีลงทุนหลากหลายครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร ค้าปลีก ยานยนต์ รวมถึงธุรกิจการเงิน
การดำเนินธุรกิจในจีนที่เกี่ยวข้องกับซีพีจะมี 2 ส่วน คือ
1.การลงทุนจากซีพีประเทศไทย ซึ่งนายธนินท์ เป็นผู้เข้าไปบุกเบิกร่วมกับนายสุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายนายธนินท์ เริ่มตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร จักรยานยนต์และธุรกิจการเงิน และล่าสุดมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายนายธนินท์เป็นผู้ดูแลธุรกิจในจีนกลุ่มนี้
2.การลงทุนของญาติในจีน ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่ “เซี่ย ปิ่ง” หรือ Tse Ping ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sino Biopharmaceutical และ CP Pharmaceutical Group ซึ่งมีการผลิตยาออกมาหลายประเภทได้แก่ ยาชีวภาพและยาเคมีหลายชนิด และเป็นผู้นำการผลิตยาหลายโรค เช่น โรคตับ เนื้องอก โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดโรคกระดูก ระบบย่อยอาหาร โรคภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินหายใจ และที่ผ่านมาwfhเน้นการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์
ทั้งนี้ แม้ Sino Biopharmaceutical จะเป็นธุรกิจที่ “เซี่ย ปิ่ง” ตั้งขึ้นมาและซีพีเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย แต่ในเว็บไซต์ cpgroupglobal.com ระบุธุรกิจยาและเวชภัณฑ์เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจหลักของซีพี ที่ดำเนินการโดย Sino Biopharmaceutical
สำหรับ “เซี่ย ปิ่ง” เป็นบุตรของ “เซี่ย เจิ้ง หมิง” ซึ่งเป็นพี่น้องของบิดานายธนินท์ โดยเว็บไซต์ successstory.com ระบุว่า “เซี่ย ปิ่ง” เป็นทายาทของตระกูล “ธนินท์” ที่มีอิทธิพลร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในเอเชีย ซึ่งตระกูลดังกล่าวอพยพจากซัวเถามาประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ “เซี่ย ปิ่ง” อยู่ที่ประเทศจีน และไม่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจเกษตรเหมือนคนในครอบครัวก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจยา
รวมทั้งใน ปี 2558 นิตยสาร Forbes จัดให้อยู่ในอันดับที่ 949 ในรายชื่อมหาเศรษฐีโลก ด้วยทรัพย์สิน 2,300 ล้านดอลลาร์
“เซี่ย ปิ่ง” ลงจากตำแหน่งประธานบริษัทเมื่อปี 2558 และให้ “เซี่ยฉีรุ่น” บุตรสาวขึ้นมารับตำแหน่งประธานแทน ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักธุรกิจสตรีที่โดดเด่นที่สุดในจีนประจำปี 2018 โดย Forbes China ทางออนไลน์ และมีส่วนในการผลักดันให้ Sino Biopharmaceutical ซื้อหุ้น Sinovac Life Sciences ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทซิโนแวค เมื่อเดือน ธ.ค.2563 จำนวน 515 ล้านดอลลาร์ หรือ 15.03%
ในขณะที่ “เซี่ย ปิง” ยังมีบุตรชายอีกคนชื่อ “เอริค เซี่ย” ที่เป็นผู้บริหารของ CP Pharmaceutical Group และ Sino Biopharmaceutical ซึ่งปัจจุบัน “เอริค เซี่ย” ถือหุ้นใน Sino Biopharmaceutical ใหญ่ที่สุด สัดส่วน 21.47% ในขณะที่ “เซี่ย ปิ่ง” ถือหุ้นอันดับ 3 อยู่ที่ 8.40% โดยบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2543
นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การบริหารธุรกิจของซีพีจากประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนในจีน กับธุรกิจในจีนของ “เซี่ย ปิ่ง” มีการแยกทีมบริหารกันอย่างชัดเจน โดยธุรกิจที่ซีพีลงทุนในจีนก็จะมีผู้บริหารจากไทยเข้าไปดูแลนับตั้งแต่รุ่นนายสุเมธ นายธนินท์ จนมาถึงนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายนายธนินท์ ที่ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ร่วมกับนายศุภชัย เจียรวนนท์ และ “เซี่ย ปิ่ง”
ในขณะที่ “เซี่ยฉีรุ่น” และ “เอริค เซี่ย” ที่บริหาร Sino Biopharmaceutical และ CP Pharmaceutical Group ในปัจจุบันถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4
“การลงทุนของธุรกิจยาในจีนเป็นการลงทุนส่วนตัวของเซี่ย ปิ่ง ที่มีทีมบริหารแยกจากธุรกิจที่ซีพีเข้าไปลงทุนเอง เหมือนเป็นเงินคนละกระเป๋า" นายธนากร กล่าว
ดังนั้น การที่ Sino Biopharmaceutical เข้าไปซื้อหุ้นใน Sinovac Life Sciences จึงไม่ได้เกี่ยวข้องซีพีและซีพีได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้ว
นายธนากร กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจยาในจีนขยายตัวมากตามรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาหรือธุรกิจสุขภาพมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นไม่น่าแปลกที่จะมีการต่อยอดธุรกิจจากการผลิตยาไปสู่การเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทผลิตวัคซีน
รายงานข่าวจากซีพี ระบุว่า ซีพี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงการซื้อหุ้น Sinovac Life Sciences ไปแล้ว 2 ครั้ง คือ
1.การชี้แจงเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ระบุการเข้าซื้อหุ้น Sinovac Life Sciences ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ชื่อว่า CoronaVac จากจีนตั้งแต่ ธ.ค.2563 วงเงิน 515 ล้านดอลลาร์ หรือ 15,427 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเข้าไปถือหุ้น 15.03%
โดยซีพีดำเนินการซื้อหุ้นผ่าน CP Pharmaceutical Group โดย Sinovac Life Sciences มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน 300 ล้านโดสต่อปีในปีที่ผ่านมา และเพิ่มเป็น 600 ล้านโดสต่อปีในปีนี้
2.การชี้แจงเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 ระบุว่า ซีพีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งซีพีไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว โดยข้อเท็จจริง ผู้ลงทุน คือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยซีพีเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical
ทั้งนี้ Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยซีพีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใดๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น
รวมทั้งชี้แจงเพิ่มเติมว่าการที่ Sinovac Life Sciences ต้องการขายหุ้นเพราะต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ