เรียกได้ว่าเป้นอีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมาก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน วัคซีนซิโนฟาร์ม โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งได้ยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนครบถ้วนแล้ว และทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้า นับเป็นข่าวดีและอีกความหวังของชาวไทย ในเรื่องทางเลือกวัคซีน
ต่อมา เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ของ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ได้แสวงหากำไรจากวัคซีนทางเลือก โดยจะคิดเงินตามต้นทุนเท่านั้นและประชาชนที่จะได้รับการฉีดทางวัคซีนทางเลือกจะได้รับการฉีดฟรี ส่วนประชาชนทั่วไปก็คงต้องรอวัคซีนหลัก
ทุนวัคซีนที่ซื้อมา ประกอบด้วย ค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา และค่าประกัน ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสรรวัคซีนทางเลือกเหล่านี้ให้กับ องค์ภาครัฐ และ องค์กรภาคเอกชน ที่ต้องการนำไปฉีดให้กับบุคลากรภายใน ตามราคาต้นทุน ไม่มีการบวกเพิ่ม หรือคิดกำไรใด ๆ ทั้งสิ้น และมีข้อกำหนดว่าไม่สามารถนำไปขายให้บุคลากรหรือคนอื่นต่อได้
แต่ในกรณีที่องค์กรจะไปจ้างให้สถานพยาบาลใด ๆ ฉีดให้ สถานพยาบาลนั้น ๆ จะคิดค่าบริการอื่นใด ถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาลและองค์กรที่รับวัคซีนไป ส่วนประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี
ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม เบื้องต้นจะมีการนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย. นี้ และกระจายให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีนรองรับสำหรับผู้ที่ฉีดนั้น จะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าราคาของวัคซีนจะอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม แต่จะต้องมีการประเมินราคาเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะต้องรอปริมาณที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะไม่หนีกันมากนัก