คาร์ลิกเชกระบุว่า อันตรายเกี่ยวกับโควิดระยะยาวนั้นคือ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยหนัก โดยอาจพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง หรืออาการเล็กน้อย
ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 10 ของประชากรในเยอรมนีต้องต่อสู้กับผลกระทบระยะยาวหลังติดเชื้อไวรัสที่คงอยู่นานกว่า 3 เดือน
คาร์ลิกเชกกล่าวว่า อาการของภาวะดังกล่าวแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และมีอาการประมาณ 50 ชนิดที่เชื่อมโยงกับโควิดระยะยาว โดยการปวดศีรษะซ้ำ ๆ เหนื่อยล้า และหายใจลำบากเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ส่วนใหญ่
คาร์ลิกเชกประกาศโครงการระดมทุนใหม่สำหรับการวิจัยภาวะโควิดเรื้อรังเพิ่มเติม ซึ่งขั้นต้นมีเงินทุนรวม 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) โดยผลลัพธ์ที่ได้จะปูทางสู่การวิจัยและจัดสรรทุนเพิ่มเติม
"ลองโควิดจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบการดูแลสุขภาพของเรา เรากำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ และยังเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอีกด้วย" คาร์ลิกเชกกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เยอรมนีได้จัดตั้งเครือข่ายการวิจัยใหม่สำหรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยกระทรวงได้สนับสนุนเครือข่ายดังกล่าวด้วยเงินทุน 150 ล้านยูโร (ราว 5.7 พันล้านบาท) จนถึงสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ สถาบันโรแบร์ตค็อก (RKI) ระบุว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมเกือบ 3.7 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 88,442 ราย เมื่อนับถึงวันจันทร์ (31 พ.ค.)