พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้โพสต์ผ่านเพจของตนเองเกี่ยวกับ " กระบวนการยุติธรรม ต้องปราศจากการแทรกแซง "คดีน้องชมพู่เสียชีวิตเกิดมานานประมาณปีเศษ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ พนักงานสอบสวนที่จะต้องทำการ “สืบสวน” “สอบสวน” ให้ได้ข้อยุติว่าน้องชมพู่ เสียชีวิตเอง หรือมีผู้ทำให้เสียชีวิต ถ้าเสียชีวิตเองจะไม่เป็นความผิดอาญา พนักงานสอบสวนเพียงแค่ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายเป็นใคร ? ตายที่ไหน ? ตายเมื่อไหร่ ? ตายอย่างไร ? ก็เท่านั้น แต่ถ้ามีผู้ทำให้ตายจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิด ว่ามีการกระทำความผิดอาญาฐานใดเกิดขึ้น (ฆ่าผู้อื่น หรือกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) และพิสูจน์ให้ได้ว่าใครคือผู้กระทำความผิด เพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป
“การสอบสวน” คือการรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งพนักงานสอบสวนได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ และ/หรือ เอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษกระบวนการนี้จึงเป็นกระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหา เช่น กล่าวหาว่า ฆ่าผู้อื่นตายก็จะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร
พยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ หรือพยานอื่นใดบรรดามี ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้กระทำผิด ได้ลงมือกระทำการฆ่าผู้ตาย จนถึงแก่ความตายสมเจตนา จากนั้นก็จะส่งสำนวนการสอบสวนพยานหลักฐานที่รวมได้ให้พนักงานอัยการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
หากฟ้อง คดีจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลต่อไป พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมจึงถือเป็นความลับไปจนกว่าจะมีการพิสูจน์กันในชั้นศาล เพราะหากไม่แล้วจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในทางคดี เกิดความไม่เป็นธรรมกับคู่กรณี เพราะหากยอมให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล่วงรู้ถึงพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งเสียตั้งแต่ต้น ก็สามารถเปรียบเทียบง่ายๆจะเหมือนกับเล่นไฮโลกันแล้วยอมเปิดถ้วยให้แทง
คดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ถูกนำไปสร้างกระแส ถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ถูกนำไปชี้นำ สร้างภาพ โปรโมตตัวเอง ให้สังคมรู้จัก จนถึงขนาดทำให้บางคนกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ กระผมเองเลิกติดตามคดีนี้มาสักพักหนึ่งแล้วเพราะเห็นว่าเริ่มเป็นเรื่องไร้สาระเข้าไปทุกวัน
จนกระทั่งศาลอนุมัติหมายจับและมีการจับกุมตัวลุงพล มาดำเนินคดี และมีประเด็นที่ทำให้กระผมต้องลุกมานั่งเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็เนื่องจากทนายความของลุงพลอ้างว่าได้นัดหมายไปยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ต่อ ส.ส.สิระ เจนจาคะ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบพยานหลักฐาน ในการขออนุมัติหมายจับ ลุงพล ในครั้งนี้ และวันนี้ (5 มิ.ย.64) มีข่าวว่า กรรมาธิการคณะดังกล่าว เด้งรับ จนถึงขนาดจะเชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวน มาชี้แจงถึงพยานหลักฐาน ที่ขออนุมัติออกหมายจับในคดีดังกล่าวในวันที่ 16 มิ.ย. 64 โดยตั้งประเด็นว่า อาจจะเป็นการขออนุมัติหมายจับโดยมิชอบ ซึ่งถ้าหากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวน นำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อ กรรมาธิการ ตามคำร้องของทนายลุงพลแล้วละก็ จะกลายเป็นการไปเปิดถ้วยไฮโลให้ทนายลุงพลแทง ก็เท่านั้นเอง!!!
แล้วความเป็นธรรมจะอยู่ตรงไหน ? คู่กรณีจะเสียความเป็นธรรมหรือไม่ ? พนักงานสอบสวน รวมถึงตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเอง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร จะมีความผิดฐานนำความลับในสำนวนไปเปิดเผยหรือไม่ ?
ช่วยแยกกันให้ออกนะครับ ระหว่าง “สืบสวน” กับ “สอบสวน” ถ้ามีผู้ไปร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการค้น ในการจับ ซึ่งเป็นหน้าที่ ของตำรวจ ฝ่ายสืบสวน/ป้องกันปราบปราม ว่ามีการละเมิดสิทธิ์หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไร ? อย่างไร ? ก็ว่ากันไป แต่ถ้าล่วงเลยไปถึงการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์และหรือเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ดังเช่นคดีนี้แล้ว จะมีใคร ? (บุคคลหรือคณะบุคคล) มีสิทธิ์ หรือ มีความถูกต้อง เหมาะสม ที่จะยื่นมือเข้าไปล้วงความลับในสำนวนการสอบสวน พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน รวบรวมไว้ได้หรือไม่ ? เหมาะสมหรือไม่ ? จะเกิดความเป็นธรรมกับคู่กรณีหรือไม่ ?
ถ้ายังคิดไม่ออก กระผมขอกระซิบบอกว่า คดีนี้ ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวน นำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อกรรมาธิการต่อหน้าทนายความลุงพล หรือไม่ก็ตาม ก็จะเป็นบรรทัดฐาน ให้ทนายความในคดีอื่นๆใช้ช่องทางนี้ ล้วงเอาความลับในสำนวน ล้วงเอาพยานหลักฐานในสำนวน แล้วกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นจะอยู่กันยังไงอีกต่อไป กระผมคิดไม่ออกบอกไม่ถูก
คำถามสุดท้าย “คิดได้ไง” แล้วจะไปกันหรือเปล่า....
ไปกันใหญ่แล้ว.........
ปฏิรูปตำรวจก็ ต้วมเตี้ยม... ต้วมเตี้ยม... เป็นเตี้ยอุ้มค่อม เพิ่งจะประชุมไปได้สักสิบมาตรามั้ง......เฮ้ยยยยยย
ขอบคุณ
พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม 5 มิถุนายน 2564