กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนจับตาโควิดสายพันธุ์อินเดียโผล่อุดรธานี

07 มิถุนายน 2564

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 จับตาโควิดสายพันธุ์อินเดียโผล่อุดรธานี

วันที่ 7 มิ.ย. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ในประเทศไทย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสายพันธุ์เดลตา หรือ โควิดสายพันธุ์อินเดีย แล้ว 230 ราย ล่าสุดพบ 1 รายไปร่วมงานบายศรีที่จังหวัดอุดรธานี
 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 มี 2 ระดับ คือ 1.สายพันธุ์ที่เราสนใจ ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และ 2.สายพันธุ์ที่ห่วงกังวล มีหลักฐานว่าแพร่เร็ว อันตรายเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันอาจจัดการไม่ได้ หรือวัคซีนอาจเอาไม่อยู่

"ปัจจุบันสายพันธุ์อัลฟาครองเมืองอยู่ แต่มีสายพันธุ์ที่เริ่มโผล่ขึ้นมา คือ เดลตา (อินเดีย) ที่ตรวจพบครั้งแรกในแคมป์คนงานหลักสี่ ตรวจเจอ 230 กว่าราย คิดเป็น 6% กทม.เจอเยอะสุด 206 ราย นอกจากนี้ ยังมีนนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย เชื่อมโยงคนงานหลักสี่เดินทางไป สระบุรี 2 ราย อุดรธานี 17 ราย นครราชสีมา 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย

ภาคใต้ยังไม่ค่อยมี สะท้อนให้เห็นว่าจากแคมป์หลักสี่กระจายไปบริเวณอื่น กทม.และต่างจังหวัด ภาพแบบนี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้น แต่อยากเห็นว่ามีการกระจายไปไหนบ้าง อย่างที่เจอเยอะ คือ อุดรธานี ก็กำลังสอบสวนโรคว่าเชื่อมโยงกับแคมป์หลักสี่มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นการตรวจพบจากคลัสเตอร์บายศรีสู่ขวัญ"

ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เริ่มต้นจากการข้ามมาจากมาเลเซียอยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนถึงวันนี้ตรวจเจอ 26 ราย มีการตรวจจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง แต่ยังพบอยู่ที่นราธิวาสอย่างเดียว แต่วางใจไม่ได้ ต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด แพร่ออกมาข้างนอกช้าสุด นอกจากนี้ ยังเจอสายพันธุ์ B.1.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สนใจของประเทศเพื่อนบ้าน เจอในนราธิวาสและปัตตานี 10 ราย แต่0ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล ต้องจับตาดูข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจะได้ข้อมูลละเอียด ทำให้ตรวจสอบสายตระกูลความชื่อมโยง ว่าต้นตระกูลมาจากไหน จะได้รู้เส้นทางการมาของสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะแต่ละประเทศไม่ได้มีศักยภาพในการถอดรหัสพันธุกรรมได้ทุกประเทศ โดยสรุปตอนนี้บ้านเรายังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เริ่มมีเดลตา (อินเดีย) ขึ่้นมาบ้าง ต้องช่วยกันควบคุมดูแล ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) อยู่ที่ตากใบไม่พบในพื้นที่อื่น