ภาพชุดดังกล่าวถูกเปิดเผยในงานพิธีหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน นับเป็นการบ่งชี้ความสำเร็จโดยสมบูรณ์ของภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน โดยภาพชุดนี้ประกอบด้วยภาพมุมกว้างของพื้นที่ลงจอด ภูมิประเทศของดาวอังคาร และภาพเซลฟีของของยานจู้หรง พร้อมแพลตฟอร์มลงจอด
ภาพมุมกว้าง 360 องศาของพื้นที่ลงจอดถูกบันทึกเมื่อยานสำรวจพื้นผิวยังไม่แยกตัวจากแพลตฟอร์มลงจอด โดยภาพดังกล่าวถูกประกอบขึ้นจากภาพจำนวนมากที่ถ่ายโดยกล้องนำทางของยานสำรวจพื้นผิว แสดงภาพพื้นที่โดยรอบที่ราบเรียบของจุดลงจอดและเส้นขอบฟ้าของดาวอังคาร
องค์การฯ ระบุว่าความหนาแน่นและขนาดของก้อนหินเป็นไปตามการคาดการณ์ บ่งชี้ว่าการลงจอดอัตโนมัติ การบินร่อน และการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางของยานอวกาศดำเนินไปได้ด้วยดี
ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงบันทึกภาพภูมิประเทศของดาวอังคารหลังวิ่งลงพื้นผิว โดยภาพถ่ายแสดงพื้นที่โดยรอบที่ค่อนข้างราบเรียบและมีกลุ่มก้อนหินสีอ่อนขอบมนหลากหลายขนาด ซึ่งถูกฝังใต้พื้นผิวบางส่วนและตั้งกระจัดกระจาย ส่วนฝั่งที่อยู่ไกลออกไปเป็นปล่องภูเขาไฟรูปวงกลมที่มีหินแหลมคมสีเข้มกระจายตัวรอบปากปล่อง และมีเนินทรายหลายแห่งตั้งอยู่ไกลออกไปอีก
ขณะเดียวกันอีกภาพหนึ่งแสดงให้เห็นธงชาติจีนกางออกจากแพลตฟอร์มลงจอดที่สะท้อนแสงแวววาวบนดาวอังคาร โดยภาพนี้บันทึกโดยยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงขณะเคลื่อนตัวราว 6 เมตร ไปทางทิศตะวันออก 60 องศาจากด้านใต้ของแพลตฟอร์มลงจอด
ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงยังใช้กล้องอีกตัวถ่ายภาพเซลฟีกับแพลตฟอร์มลงจอด โดยกล้องตัวดังกล่าวเดิมติดอยู่ส่วนล่างของจู้หรงก่อนจะถูกปลดแยก ณ บริเวณด้านใต้ห่างจากแพลตฟอร์มลงจอดราว 10 เมตร และบันทึกคลิปวิดีโอพร้อมภาพเซลฟีขณะจู้หรงเคลื่อนตัวกลับแพลตฟอร์ม ต่อจากนั้นกล้องตัวนี้ใช้สัญญาณไร้สายส่งรูปและวิดีโอไปยังจู้หรง ซึ่งส่งข้อมูลดังกล่าวกับมายังโลกผ่านยานโคจร
“จีนจะเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสม เพื่อแบ่งปันผลสำเร็จของการพัฒนาการสำรวจอวกาศของประเทศกับมนุษยชาติ” จางเค่อเจี่ยน ผู้อำนวยการองค์การฯ กล่าว
ทั้งนี้ ภารกิจเทียนเวิ่น-1 ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020 โดยยานลงจอดขนส่งยานสำรวจพื้นผิวลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร บริเวณตอนใต้ของยูโทเปีย แพลนิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดใหญ่ในซีกเหนือของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงเคลื่อนตัวแยกจากแพลตฟอร์มลงจอดลงบนพื้นผิวดาวอังคารเพื่อเริ่มการสำรวจบนดาวอังคาร ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถลงจอดและควบคุมยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารได้
เมื่อนับถึงวันที่ 11 มิ.ย. ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงปฏิบัติการบนดาวอังคารเป็นเวลา 28 วันดาวอังคารแล้ว (หนึ่งวันบนดาวอังคารยาวกว่าหนึ่งวันบนโลกประมาณ 40 นาที) ส่วนยานโคจรทำหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับยานสำรวจพื้นผิวจู้หรง พร้อมปฏิบัติการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ของตัวเอง
ขอบคุณ ซินหัวไทย