นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ทางสมาคมฯจะเสนอให้ ศบค.เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับภัตตาคารและร้านอาหาร ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร
เพื่อหามาตรการเยียวยาและช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการร้านอาหารเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี และที่ผ่านมาไม่มีปากเสียงต่อการเข้าร้องเรียนโดยตรงกับภาครัฐ แนวคิดตั้งคณะกรรมการดูแลโดยตรง เพราะร้านอาหารถือเป็นหนึ่งในภาคบริการ มีเครือข่ายห่วงโซ่เกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจและจำนวนคนเป็นล้านๆคน และยังเป็นการรองรับแรงงานที่ตกงานจากหลากหลายอาชีพ ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการร้านอาหารประสบปัญหา ก็จะกระทบเป็นวงกว้างทั้งธุรกิจและแรงงาน
“เราวิตกว่าหากหลังเดือนมิถุนายนนี้การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลายดีขึ้น จะยิ่งกดดันกำลังซื้อประชาชน กระทบร้านอาหารปิดตัว แม้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น คนละครึ่ง แต่ข้อจำกัดการเปิดร้าน หรือ กำลังซื้อประชาชนไม่ได้มากขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลต่อผู้ประกอบการอาหาร อีกทั้งที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก็ไม่ได้ตรงจุด เราต้องการสินเชื่อเงินไม่ได้มาก 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท/รายในเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนซื้อสินค้าหรือประคองแรงงาน ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้
หรือ ปัญหาต้นทุนสูง อย่างเปิดร้านได้น้อยก็ขายออนไลน์แต่เจอเรื่องถูกเก็บค่าบริการ(จีพี)จัดส่งดิลิเวอรี่ จากเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้รายได้จริงไม่พอค่าใช้จ่าย เมื่อเรามีคณะกรรมการก็ดีต่อการเจรจาเพื่อให้ผ่อนปรนค่าจีพีเพื่อช่วยเหลือระหว่างกันมากขึ้น เช่น ลด 50% จนกว่าโควิดรุนแรงจะดีขึ้น อีกทั้ง การมีคณะกรรมการร่วม จะได้รู้ข้อมูลแท้จริง
เช่น ดูตัวเลขร้านอาหารจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มีเพียง 1.5 หมื่นราย แต่ไปดูจำนวนร้านอาหารเสียภาษีกับกระทรวงการคลังมีเป็นแสนๆราย ที่เสี่ยงปิดตัวจากหมดสายป่านหลังแบกภาระขาดรายได้จากมาตรการเข้มช่วงโควิด ที่เราเสนอพียงให้เกิดการช่วยเหลือได้จริง ตรงจุด และรวดเร็ว บนกติกาที่เหมาะสม ” นางฐนิวรรณ กล่าว