มีรายงาน วันที่ 17 มิ.ย.64 นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้รับแจ้งจาก โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ว่าปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน ที่ว่าการอำเภอเมือง ชื่อ น.ส.วรรณี คงทอง อายุ 58 ปี เสียชีวิตหลังรักษาตัวนานกว่า 1 สัปดาห์ จากอาการปอดติดเชื้อรุนแรง โดยก่อนหน้านี้ น.ส.วรรณี มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แต่รักษาหายแล้วกลับมาทำงานตามปกติได้ประมาณ 1 สัปดาห์ สร้างความประหลาดใจให้เพื่อนร่วมงาน เนื่องจากขณะเข้ารับการรักษาตัวนั้น น.ส.วรรณี ไม่มีอาการเจ็บป่วย เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ แต่ออกจากโรงพยาบาลแล้วจึงพบว่าปอดเสียหาย
โดยหลังจากที่น.ส.วรรณี เริ่มมีอาการเหนื่อย หายใจติดขัด ก็ได้เดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลประจวบ แต่ผลออกมาไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่เมื่อเอกซเรย์พบว่าที่ปอดมีฝ้าขาว
ทั้งนี้นายศราวุธ กล่าวต่อว่า ก่อนติดเชื้อโควิดน.ส.วรรณี พร้อมลูกจ้างในหน่วยงาน ลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านเพื่อบริการทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาล กระทั่งต่อมาพบว่า น.ส.วรรณีและลูกจ้าง 2 คนในโครงการแผนกงานทะเบียนติดเชื้อโควิด และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกระทั่งรักษาหายตรวจไม่พบเชื้อ จึงสั่งให้กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน ก่อนจะมาทำงาน
กรณีที่เกิดขึ้นนี้นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทางการแพทย์และทางญาตินำไปบำเพ็ญกุศลได้ตามปกติ เพราะไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด
เดิมผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ต่อมาติดเชื้อโควิดเข้ารักษาระหว่างวันที่ 14-30 เม.ย.64 จากนั้นหายป่วยกลับบ้านโดยไม่มีอาการ ต่อมาวันที่ 27 พ.ค. มีอาการหายใจไม่สะดวก จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ไม่มีอาการไอหรือเสมหะ ไม่เจ็บคอรับประทานอาหารได้ ไม่มีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลว แต่มีไข้ ตรวจพบไม่เจอเชื้อโควิด นอนรักษาที่ตึกอายุรกรรม 2 จากอาการปอดอักเสบรุนแรง
นายแพทย์สุริยะ กล่าวว่า "ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงใส่ท่อช่วยหายใจให้ยาฆ่าเชื้อ พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ตรวจหาเชื้อโควิดแต่ไม่เจอ ถ้าสงสัยว่าเป็นปัญหามาจาการติดเชื้อโควิดรอบแรกหรือไม่ ขอเรียนว่าไม่มีรายงานแบบนี้ในประเทศไทยว่าหายแล้วยังติดเชื้ออีก และการติดเชื้อรอบแรกไม่มีอาการบ่งชี้ทำให้ปอดเสื่อม หากญาติจะทราบข้อมูล จะต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ เพื่อหาผลข้างเคียงจากพยาธิสภาพที่ รพ.จุฬาหรือ รพ.ศิริราช เพื่อตรวจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดหรือไม่" นายแพทย์สุริยะ กล่าว