เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 รายงานความคืบหน้าโควิดสุพรรณบุรี โดยศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 สุพรรณบุรี พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เป็นชายอายุ 74 ปี เสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาไม่ทันข้ามวันสร้างความสะเทือนใจให้กับเจ้าหน้าที่และครอบครัวเป็นอย่างมาก
สรุปตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มอีก 13 ราย ขณะนี้รักษาอยู่ 127 ราย หาย 446 ราย และมีเสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 13 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค รายใหม่ 11 ราย ผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันเสี่ยงสูง รายใหม่ 109 ราย การเฝ้าระวัง กลุ่มผู้ป่วย (โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และ ปอดอักเสบ) รายใหม่ 1 ราย การเฝ้าระวังและการค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รายใหม่ 113 ราย
โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 13 เป็นชายไทย อายุ 74 ปี อยู่ ต.ยางนอน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 583 เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 และเสียชีวิตในวันเดียวกัน
ด้าน นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ออกประกาศคำสั่ง เรื่องแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ประชาชนเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม เข้าจังหวัดสุพรรณบุรี มีรายละเอียดรวม 3 ข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ประชาชนเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้าจังหวัดสุพรรณบุรี ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564
2.เมื่อนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับรายงานข้อมูลผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีความเหมาะสม ทำการตรวจสอบว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ข้างต้น ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แล้วหรือยัง หรือมีผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เกิน 48 ชม. มาแสดงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือไม่
3. หากผู้เดินทางมายังจ.สุพรรณบุรี ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อโควิด หรือไม่มีผลตรวจหาเชื้อโควิด ภายใน 48 ชม. มาแสดง ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาสั่งให้กักตัว ณ สถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด เพื่อสังเกตอาการ มีเวลา ไม่น้องกว่า 14 วัน หรือ ตามจำนวนวัน หรือมาตราการอื่นๆ ที่เห็นสมควร ให้เหมาะสมแล้วแต่กรณี