เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 3 ฉบับ โดยฉบับแรก ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร้อยโท จิณณวัตร เจรียงโรจน์ นายทหารสัญญาบัตร สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2563
เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 ข้อ 2
สำหรับชื่อของ ร้อยโท จิณณวัตร เจรียงโรจน์ เป็นแพทย์ทหารที่มีข่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ยังกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย-เซาท์ซูดาน แล้วไปเรียกเก็บเงินทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นค่าวัคซีน อ้างเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนมีการตรวจสอบของยูเอ็นและกองทัพในเวลาต่อมาว่าไม่ใช่วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนบาดทะยัก พร้อมทั้งให้นายทหารคนดังกล่าว ออกจากราชการ ขณะที่มีชายคนหนึ่ง อ้างว่าเป็นบิดาของแพทย์ทหารนายดังกล่าว ระบุว่าบุตรชายของตนเองถูกกลั่นแกล้ง และพร้อมจะใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดี
ฉบับที่ 2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร นายทหารสัญญาบัตร ออกจากยศทหาร ได้แก่ 1.ร้อยเอก เฉลิมศักดิ์ เรือนมงคล สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2561 เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ 2.ร้อยโท ศุภวัฒน์ พรหมมา สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2562 เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ
ฉบับที่ 3 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์ช้างเผือก และเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ซึ่ง นายสุภัทร คำศิริ อดีตลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดกลาง ระดับ ช ๒ สังกัดกองบริหารจัดการ วัตถุดิบอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับพระราชทานเนื่องจากถูกลงโทษปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 ด้วยเหตุกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานได้กระทำการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงโดยคำสั่งอันถึงที่สุด
ฉบับที่ 4 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญทองช้างเผือก และเหรียญจักรมาลา ซึ่ง นายฐานุพงศ์ พิทักษ์อนันต์ หรือ นายชาญชัย อมรวัฒนานุกูล อดีตข้าราชการตำรวจ เดิมยศ ดาบตำรวจ ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการสืบสวน สังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับพระราชทาน เนื่องจากถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2558 โดยคำสั่งอันถึงที่สุด อันเป็นเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์