วันนี้ (23 มิ.ย.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ตอบข้อซักถามถึงกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากและมีผู้ป่วยวิกฤต ขณะที่กรมการแพทย์ระบุว่าเตียงผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤต ศบค.จะแก้ไขอย่างไร
โดย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่ ผู้ป่วยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีความชุกอยู่ที่กทม.และปริมณฑล โดยที่มีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งที่รอเตียง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่โซนสีเขียวแล้วที่บางรายอาการไม่มาก ส่วนที่สองคือโซนสีเหลืองและโซนสีแดง ได้พูดคุยกันว่าศักยภาพของภาครัฐแน่นหมดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าของภาคเอกชนจะมีเตียงว่าง ดังนั้นต้องมีหนทางใหม่ในการพูดคุยหารือกัน เพราะในบางโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักที่จะต้องดูแลประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งมีสถานที่อยู่แล้วก็อาจปรับให้เป็นพื้นที่รองรับระดับสีแดงได้หรือไม่ ด้วยการเพิ่มเติมอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไป โดยที่ประชุมมอบหมายให้รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครไปประชุมปรึกษาหารือ เพื่อขยายศักยภาพ
โดยขณะนี้มีข้อเสนอจากทางแพทย์ต้องการให้ล็อกดาวน์กทม.อย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว ด้วยความยินดีในหลายเรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยและคิดกัน ถกแถลงกันในที่ประชุม เราได้รับทราบแล้วว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบันนี้เราดำเนินการอยู่ แต่เป็นลักษณะจุดเฉพาะ ที่เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่น แคมป์คนงาน โรงงาน หลายแห่งหลายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ละมาตรการนั้นจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องนำมาไตร่ตรองกัน การปิดพื้นที่โรงงานอาจทำให้เกิดการกระจายของคนที่ไม่มีงานทำก็จะเดินทางไปต่างจังหวัดเพิ่มปัญหาไปอีก ดังนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างดี
การปิดกทม.อย่างที่ทราบกันว่าคนกรุงจริงไม่ได้มีมาก แต่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกทม.อาจเป็นการเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ดังนั้นต้องผสมผสาน ที่สำคัญขณะนี้ข้อสรุปคือจะทำลักษณะบับเบิ้ลแอนด์ซีล โดยผอ.ศปก.ศบค.ให้คำนิยามว่าบับเบิ้ลแอนด์ซีล ของแต่ละที่นั้นตรงกันหรือไม่ เพราะเราจะได้เห็นจากจ.สมุทรสาครที่ยอมให้โรงงานเปิดได้ แต่ต้องดูแลเรื่องการนำพาแรงงานมาสู่โรงงานที่เรียกบับเบิ้ลแอนด์ซีลนั้น เขาทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งกทม.ต้องดูแลเป็นอย่างดีด้วย แต่เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะกทม.มีจำนวนคนเยอะกว่า มีความซับซ้อนขององค์กร ของสถานที่ ก็มีมากกว่า ดังนั้นการแบ่งเขตดำเนินการขึ้นอยู่กับรองปลัดกรุงเทพมหานครที่เป็นคนคุมโซนแต่ละที่ ซึ่งผอ.ศปก.ศบค.กำชับว่าแหล่งรังโรคหากเกิดขึ้นที่ไหนให้จัดการเฉพาะที่ ดังนั้นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากบุคลากรทางการแพทย์ จึงนำมาสู่การคิดหนทางหาทางปฏิบัติให้ได้ผสมผสานกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ไปด้วยกันได้โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในต่างจังหวัด