"หมอธีระวัฒน์" ชี้โควิดไม่ได้กระจายเเค่เเคมป์คนงาน เสนอ4ทางออกผ่านวิกฤต

27 มิถุนายน 2564

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แนะใช้ชุดตรวจความไว 100% ขอกระทรวงฯ เร่งพิจารณาคัดกรองเชื้อโควิด-19ทุก 7 วัน เสนอทางออก 4 ข้อผ่านวิกฤตโควิด หลังเชื้อกระจายชุมชน ไม่ใช่แค่คนงาน


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เปิดเผยว่า  มาตรการเข้มสกัดโควิด 10 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศออกมาล่าสุด มาตรการขณะนี้อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากขณะนี้เชื้อได้แพร่กระจายในระดับชุมชนทั่วไป ตามครอบครัว ตามบ้านเรือน เห็นได้จากในโรงพยาบาลต่างๆ แม้กระทั่งในรพ.เอกชน ปรากฏว่าคนเข้ามาขอตรวจเชื้อจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน คนในครอบครัว สิ่งสำคัญต้องมีการตรวจเชื้อทุกคน 

 

แต่จุดอ่อนของการตรวจด้วยการใช้ชุดตรวจนั้น ความไวไม่ 100% ประมาณ 90% หรือน้อยกว่านั้น หากตรวจไปและได้ผลลบ ก็อาจไม่ลบจริง อาจจะบวกก็ได้ แต่หากชุดตรวจมีความไวเต็ม 100% ก็จะบวกเกินไปบ้าง แต่สำคัญตรงเมื่อได้ผลบวกจะได้แยกตัวไปก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ติดเชื้อจริงๆ


ปัญหาคือ การตรวจเองที่ตรวจตามแล็บเอกชน เมื่อรู้ผลก็จะหารพ.ไม่ได้อีก ซึ่งประชาชนที่ทำกันอยู่ เมื่อพบว่าผลบวกก็จะกักตัวที่บ้าน จนเริ่มมีอาการก็จะหาที่เข้ารพ. และพอไม่มีที่ เพราะเตียงเต็ม คนไข้ก็อาการหนัก อย่างที่เห็นกัน 

\"หมอธีระวัฒน์\" ชี้โควิดไม่ได้กระจายเเค่เเคมป์คนงาน เสนอ4ทางออกผ่านวิกฤต

ทางออกเรื่องนี้ ตนมีข้อเสนอว่า

1.เพื่อรับมือในการช่วยชีวิตคนไข้ ต้องมีห้องไอซียู ที่สามารถรองรับคนไข้ที่หายใจเองไม่ได้ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จึงต้องปรับสมรรถนะ รพ.สนามให้รับคนไข้วิกฤตได้ ซึ่งในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างไอซียู ภายใน 7 วันถือว่าเหมาะสม แต่ต้องขยายเพิ่มขึ้น ที่สำคัญการสร้างไอซียู ต้องมีเครื่องช่วยหายใจแบบสอดท่อได้ ส่วนเครื่องช่วยหายในแบบที่พ่นออกซิเจนเข้าไปในปริมาณสูง จะช่วยคนไข้ได้ในระดับหนึ่ง แต่คนไข้ที่อาการหนักกว่านั้นจะไม่ได้ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งหมด โดยปริมาณต้องดูตามตัวเลขสถานการณ์จริงทั่วประเทศไทย

 

2.ตัวเลขผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าไอซียูเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการติดเชื้อไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน แต่อยู่ที่คนทั่วไปแล้ว เพราะขณะนี้แม้กระทั่งรพ.เอกชน ยังเจอปัญหานี้เช่นกัน มีคนมาตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่การตรวจหาเชื้อในสถานพยาบาลมีข้อจำกัด ไม่ได้รับเปิดกว้าง

3.การหยุดยั้งแพร่กระจายเชื้อในชุมชน บ้านเรือน ต้องคัดกรองทุก 7 วัน หากไม่ทำเช่นนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการจำกัดพื้นที่ หรือหากมีการล็อกดาวน์จริงก็เหมือนกับการเอาคนติดเชื้อไปอยู่กับคนติดเชื้อ

4.กระทรวงสาธารณสุขควรนำเข้าสู่การพิจารณาในการใช้ชุดตรวจที่มีความไว 100% มาใช้กับประชาชนทุกครัวเรือน แต่ต้องมีข้อควรระวังว่า อาจได้ค่าบวกมากเกินจริง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะขอให้กักตัวไว้ก่อน และให้มีการตรวจเชื้อ RT-PCR เพื่อยืนยัน จริงๆ เรื่องนี้ได้เคยเสนอที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เดือน มี.ค. แล้ว

“สรุปคือ เมื่อเชื้อกระจายมากขึ้น การตรวจเชื้อจึงจำเป็น แต่การจะตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในทุกคนอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาชุดตรวจที่มีความไว 100% หรือบวกเพิ่มได้ แต่มีเงื่อนไขตามที่กล่าวมา โดยนำมาตรวจในชุมชนก่อน และค่อยตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ขอบคุณ
hfocus