คณะวิจัยรวบรวมตัวอย่างเซลล์จากผู้รับวัคซีนไฟเซอร์ 14 คน ในช่วงสัปดาห์ที่ 3, 4, 5 และ 7 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก โดยผู้เข้าร่วมทดลอง 10 คนยังได้ให้ตัวอย่างเซลล์เพิ่มเติมในช่วงสัปดาห์ที่ 15 อีกด้วย อย่างไรก็ดีผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมดไม่เคยติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
คณะวิจัยพบว่าในสัปดาห์ที่ 3 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก ร่างกายของผู้เข้าร่วมทั้ง 14 คนได้สร้างศูนย์กลางเจอร์มินอล (GC) ที่มีเซลล์บี (B Cells) ซึ่งผลิตแอนติบอดีที่มุ่งเป้าไปยังโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-COV-2) อันก่อโรคโควิด-19 โดยการตอบสนองดังกล่าวขยายตัวอย่างมากหลังได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นและยังคงอยู่ในระดับสูงเรื่อยมา
แม้กระทั่งในสัปดาห์ที่ 15 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก ผู้เข้าร่วม 8 ใน 10 คน ยังคงมีศูนย์กลางเจอร์มินอลที่ตรวจจับได้ ซึ่งเซลล์บีที่มุ่งเป้าไปยังไวรัสก็ยังคงอยู่เช่นกัน
“นี่เป็นหลักฐานของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งอย่างยิ่ง” เรเชล เพรสตี ผู้ร่วมวิจัยอาวุโสและรองศาสตราจารย์ด้านการแพทย์กล่าว “ระบบภูมิคุ้มกันของคุณใช้ศูนย์กลางเจอร์มินอลเพื่อสร้างแอนติบอดีที่สมบูรณ์แบบ เพื่อที่จะยึดจับได้ดีและอยู่ได้นานที่สุด ส่วนแอนติบอดีในเลือดเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการ แต่ศูนย์กลางเจอร์มินอลคือจุดที่ภูมิคุ้มกันถือกำเนิดขึ้น”
คณะวิจัยยังได้รวบรวมตัวอย่างเลือดจากผู้รับวัคซีนไฟเซอร์ 41 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 8 คนเคยติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 โดยตัวอย่างเลือดนั้นจะถูกเก็บก่อนพวกเขาเข้ารับวัคซีนแต่ละโดส รวมทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 4, 5, 7 และ 15 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก
คณะวิจัยพบว่าในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ระดับแอนติบอดีจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ หลังฉีดวัคซีนโดสแรก และแตะระดับสูงสุดช่วง 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนโดสที่สอง ขณะกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นมีแอนติบอดีในเลือดก่อนฉีดวัคซีนโดสแรกอยู่แล้ว และระดับแอนติบอดีของพวกเขาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังฉีดวัคซีนโดสแรก และสูงกว่าระดับของผู้ที่ไม่ติดเชื้อ
“เมื่อดูข้อมูล เราจะเห็นประสิทธิภาพของวัคซีน” เจน โอ ฮัลโลแรน ผู้ร่วมวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์กล่าว “หากคุณเคยติดเชื้อและเข้ารับวัคซีนแล้ว คุณจะมีระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดว่าวัคซีนเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งแม้คุณจะเคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ เราจึงแนะนำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อเข้ารับวัคซีน”
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังทำให้เกิดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธ์ุ ซึ่งรวมถึง สายพันธุ์เบตา (Beta) จากแอฟริกาใต้ ที่ดื้อต่อวัคซีนบางตัว
ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาถูกผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนส่วนใหญ่ และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างและปล่อยสารโปรตีนของเชื้อไวรัส อาทิ โปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.)