วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ใช้รถทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อำเภอแม่สอด ไปลำเลียงผู้ป่วย 26 คน จากโรงงานทอปฟอร์ม ที่ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด ไปยังโรงพยาบาลสนามในเขตตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด ทั้งนี้เป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าว และคนไทยที่สัมผัสผู้ป่วยตามสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ตำบลแม่ตาว และตำบลแม่กุ ซึ่งโรงงาน หรือสถานประกอบการอยู่ห่างกันไม่ไกลมากนัก สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยขณะนี้การระบาดของโรคเริ่มขยายจากโรงงาน 2 แห่งแล้ว เพิ่มไปยังโรงงานขนาดใหญ่ ที่ใช้แรงงานนับ 1,000 คนขึ้นไปอีก 2 แห่ง
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ครั้งที่ 29/2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และพิจารณามาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด–19 เพิ่มเติม กรณีพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในโรงงาน พื้นที่ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ นายวรานนท์ ยิ้มมงคล และนายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก นายแพทย์วิทยา พลสีลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)
โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดตาก ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 12 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ (1 -30 มิ.ย.2564) จำนวน 1,033 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 641 ราย เสียชีวิตสะสมระลอกใหม่ 7 ราย ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอดโดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 5 โดยหากพบมีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนคนที่สุ่มตรวจ จะได้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขยายมาตรการปิดพื้นที่ดังกล่าวออกไปอีกครั้ง รวมทั้งพิจารณากำหนดให้หอพักเอกชนใกล้เคียงจุดเกิดเหตุเป็น Home isolation (ให้ผู้ป่วยโควิด-19รักษาตัวที่บ้าน) และร่วมกันพิจารณาให้โรงงานใกล้เคียงจุดเกิดเหตุอีกแห่งหนึ่ง ปรับพื้นที่เป็น Factory Quarantine เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
ขณะเดียวกัน ได้พิจารณาการสอบสวนโรคในพื้นที่โรงงาน และชุมชน ในพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเบื้องต้นมีมติขอความร่วมมือทุกโรงงานในอำเภอแม่สอด ให้เลือกจัดทำ Bubble and Seal (การจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ที่สามารถควบคุมได้) หรือเลือกสุ่มตรวจเชื้อเชิงรุกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงานที่มีอยู่ ทุกๆ 14 วัน