หมอข้องใจไทยได้ วัคซีนไฟเซอร์ - โมเดอร์นา ล่าช้า โทร.ถามผู้ผลิตถึงความแตก

02 กรกฎาคม 2564

ประชาชนถึงรู้ความจริงหมด หลังหมอข้องใจ ทำไมประเทศไทยถึงได้ วัคซีนไฟเซอร์ - โมเดอร์นา ล่าช้า ตัดสินใจต่อสายตรงถึงบริษัทผู้ผลิตถึงความแตก เรื่องมันเป็นแบบนี้นี่เอง

ด้วยสถานการณ์ของโควิด 19 ที่เลวร้ายขึ้นทุกวัน และดูท่าว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ จึงทำให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งคำถามถึงผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายว่า วัคซีนที่ดีและปลอดภัยจะมีฉีดให้คนไทยหรือไม่ อีกทั้งการตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเกราะป้องกันหมู่นั้นจะสำเร็จทันสิ้นปีหรือไม่ จากการที่ตั้งเป้าฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ แต่ไทยฉีดวัคซีนโควิดล่าสุดได้ยังไม่ถึง 10 ล้านโดส (อ้างอิงวันที่ 1 ก.ค.64)

ยอดติดเชื้อโควิด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้าน นพ.บุญ วนาสิน จาก บริษัทธนบุรี เฮลธ์แคร์ กรุ๊ป จำกัด ได้เผยเปิดว่า ตั้งแต่การระบาดของโควิด ทางโรงพยาบาลและเครือโรงพยาบาลธนบุรี ต่างวางแผนกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ว่าจะมีการซื้อวัคซีน 4 - 5 ชนิด ประมาณ 50 ล้านโดส แต่รัฐบาลบอกว่า โรงพยาบาลเอกชนสั่งเองไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ฉุกเฉิน ต้องซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และห้ามซื้อวัคซีน 5 ชนิดที่รัฐบาลสั่งซื้อ จึงเหลือแค่วัคซีนที่เอกชนซื้อได้คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา โนวาแว็กซ์ แต่ทั้งหมดต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม


ทั้งนี้ เมื่อทำการโทร.สอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต พบว่า หากเซ็นสัญญาแล้ว ต้องใช้เวลาอีก 4 เดือนถึงสามารถส่งวัคซีนได้ เช่น สมมุติเซ็นสัญญาเดือนกรกฎาคม กว่าจะได้วัคซีนคือตุลาคม ซึ่งถ้าไม่ติดเงื่อนไขใดๆ ทางโรงพยาบาลธนบุรีพร้อมสั่งซื้อทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา 50 ล้านโดส ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงจะได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่เนื่องจากติดที่การดำเนินการของภาครัฐ ทำให้ทางโรงพยาบาลเอกชน ต้องรอวัคซีนจนถึงปัจจุบัน 


กระทั่งในเดือนเมษายน 2564 มีการยืนยันจากทั่วโลกว่า วัคซีน  mRNA (ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) คือวัคซีนที่ดีที่สุด และมีผลการทดลองออกมาแล้ว ทั้งป้องกันการติด ไม่ใช่แค่ป้องกันการเสียชีวิตหรือป่วยหนักเท่านั้น และป้องกันได้หลากหลายสายพันธุ์  นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่า คนที่ฉีดทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอย่างแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค อาจต้องฉีดวัคซีนถึง 3 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่คนที่ฉีดวัคซีน mRNA มีแนวโน้มฉีดเพียง 2 เข็มเท่านั้น

 

หลังจากนั้น นพ.บุญ ยังเปิดเผยต่อไปว่า เรื่องนี้ทำให้สงสัยว่า ทำไมไทยได้วัคซีนช้า ทั้งที่ประเทศอื่นในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ได้ไปแล้ว 3 รอบ รวม 40 ล้านโดส มีแค่ประเทศไทยที่ยังไม่มีวัคซีนแบบ mRNA แม้แต่โดสเดียว  ตนจึงตรวจสอบความคืบหน้าของการดีลวัคซีนไปทางผู้ผลิตไฟเซอร์และโมเดอร์นา  ซึ่งสนิทเป็นการส่วนตัวกับโรงพยาบาลเอกชนในไทยอยู่แล้ว พบว่า ไทยยังไม่ยอมเซ็นสัญญาในการซื้อขายวัคซีนดังกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

"ขณะนี้ ยังไม่เซ็นสัญญาการซื้อขายวัคซีนเลย ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา เราก็แปลกใจว่า ทำไมนานนัก เราก็ยินดีที่จะเอาเงินไปวางไว้ให้ เพื่อไม่ให้เภสัชกังวลว่าไม่มีเงินจ่ายให้ แต่องค์การเภสัชบอกว่า ยังเอาเงินมาไม่ได้ และองค์การเภสัชเพิ่งจะส่งจดหมายให้เรายืนยันว่า จะซื้อคนละเท่าไร ซึ่งเรายืนยันไปตั้งแต่เมษาว่า เราซื้อหมด 5 ล้านโดส ยินดีเอา 15,000 ล้านมาวางไว้ให้ และถ้าเอกชนรายไหนจะซื้อ เรายินดีแบ่งให้ แต่เราต้องการให้องค์การเภสัช ไปเซ็นสัญญาก่อน อันนี้คือจุดที่สำคัญที่สุด เหมือนไฟเซอร์ป่านนี้ยังไม่เซ็นสัญญา ประเทศไทยยังไม่ได้เลยสักโดส" นพ.บุญ กล่าว


นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และบอร์ดองค์การเภสัชฯ เผยว่า ขั้นตอนการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นานั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการร่างสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของไทยและต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา จัดหาเป็นไปตามขั้นตอน สอดคล้องกับที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า กำลังรอบริษัทซิลลิค ฟาร์มา และบริษัทเอกชน ยืนยันการจองวัคซีนอย่างเป็นทางการมาให้ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะได้รับวัคซีนช่วงแรก 3.9 ล้านโดส และปีหน้า 1.1 ล้านโดส

ตรวจโควิด

ด้านโรงพยาบาลเอกชน มองว่า ไทยตรวจเชิงรุกน้อยมาก ตรวจเพียงร้อยละ 5 ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ควรตรวจอย่างน้อยร้อยละ 15 อย่างต่างประเทศเช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ตรวจเชิงรุกมากกว่าร้อยละ 30-40

 


ซึ่งทาง นพ.บุญ ยอมรับว่า เครือโรงพยาบาลธนบุรี กู้เงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนผ่านองค์การเภสัชกรรม แต่ความล่าช้าของรัฐบาล เอกชนต้องเสียดอกเบี้ยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ราคาวัคซีนโมเดอร์นาที่เหมาะสมคือ โดสละ 1,700 บาท โดยในตอนนี้โรงพยาบาลในเครือจองวัคซีนแล้วกว่า 5 ล้านโดส


สุดท้าย ตนอยากฟังความชัดเจนของทางรัฐบาลว่า ทำไมการสั่งวัคซีน mRNA ถึงได้ช้า ทำไมขณะนี้ยังไม่ได้วัคซีน ทั้งที่มีผลยืนยันว่า วัคซีนประเภทนี้ได้ผลดีที่สุดและผลข้างเคียงน้อยสุด ส่วนซิโนแวค หลายประเทศที่ฉีดก็มีการติดเชื้อที่ยังเยอะอยู่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองโรงพยาบาลเอกชน มองว่า การระบาดที่ผ่านมารัฐบาลประมาทเกินไป ทั้งที่นักวิชาการเตือนแล้วว่า โควิด 19 กลายพันธุ์เร็วมาก รัฐบาลกลับรอวัคซีนชนิดเดียวคือ แอสตร้าเซนเนก้า แต่เมื่อแอสตร้าเซนเนก้าผลิตไม่ทัน ก็เลือกซิโนแวคมาแทน ต้องยอมรับว่า คุณภาพสู้วัคซีน mRNA ไม่ได้เลย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

ขอบคุณ ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้