ชัชชาติซัด 6 คำถาม ปล่อยชุมชนอยู่ใกล้โรงงานที่มีสารอันตรายจำนวนมากได้ไง

06 กรกฎาคม 2564

ชัชชาติซัด 6 คำถาม เหตุโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ปล่อยชุมชนอยู่ใกล้โรงงานที่มีสารอันตรายจำนวนมากได้อย่างไร พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต

จากกรณีเหตุโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม 6 ข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยถามว่าปล่อยให้บ้านและชุมชนอยู่ใกล้กับโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างไร และได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสียชีวิตขณะเข้าไปดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของคุณกรสิทธิ์ ราวพันธ์ หรือ คุณพอส ธน 28-78 อาสาสมัครฯหน่วยสมเด็จเจ้าพระยาที่เสียชีวิตจากการเข้าไปช่วยควบคุมเพลิงที่โรงงานเคมีที่กิ่งแก้วเมื่อเช้านี้ และขอเป็นกำลังให้อาสากู้ภัยท่านอื่นๆที่บาดเจ็บและกำลังรักษาตัวด้วยนะครับ

เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงด้านเมือง การรับมืออุบัติภัย การประสานงานกันระหว่างจังหวัดข้างเคียง ทั้งด้านการวางแผนรับมือสถานการณ์และความต่อเนื่อง เหมาะสม ของการกำหนด Zoning ต่างๆ
คงมีหลายๆคำถามที่จะขอถามแทนพวกเรา เพื่อจะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการแก้ปัญหาในอนาคตนะครับ

1. เราปล่อยให้ที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์มาอยู่ร่วมกับโรงงานที่มีสารอันตรายจำนวนมากได้อย่างไร โรงงานอาจจะตั้งมาก่อน แต่เมื่อเราอนุญาตให้มีการสร้างที่อยู่อาศัย หมายความว่าต้องมีความปลอดภัยเพียงพอ

2. การเผชิญเหตุของการบรรเทาสาธารณภัย เรามีอุปกรณ์ต่างๆเพียงพอให้เจ้าหน้าที่ไหม ใครเป็นผู้บัญชาการเหตุ ที่จะตัดสินใจว่าพื้นที่โรงงานปลอดภัย จะใช้ขั้นตอน วิธีการใดในการดับเพลิง เพราะเราเป็นห่วงชีวิตของเจ้าหน้าที่ทุกๆคน

3. การบอกให้อพยพประชาชนในรัศมีอันตราย ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งประชาชน เป็นคำสั่งหรือคำแนะนำ ขั้นตอนในการดำเนินการอพยพเป็นอย่างไร รัศมีกี่กิโลเมตร และ เราจะฟังรายละเอียดจากช่องทางไหน หน่วยงานใดที่รับผิดชอบในการดูแลประชาชน

4. สถานที่สำคัญ เช่น รพ.สิรินธร ที่อยู่ห่างไปประมาณ 5 กม. ที่มีคนป่วยโควิดและผู้ป่วยทั่วไปอยู่เกือบ 300 คน หรือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีคนทำงานจำนวนมาก มีแผนในการดำเนินการอย่างไร

5. สถานการณ์ตอนนี้ Command Center อยู่ที่ใด พวกเราต้องฟังใคร

6. ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร การกระจายของมลพิษไปถึงไหนแล้ว และ คาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

อุบัติภัยครั้งนี้จะไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย การเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้รับรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ดีขึ้น

ขอเป็นกำลังใจให้พวกเราทุกๆคนที่อยู่ในพื้นที่ ให้ปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้นะครับ ทางอาสาสมัครเพื่อนชัชชาติในพื้นที่ ได้นำน้ำและข้าวกล่องจากโครงการต้องรอดและโครงการบ้านใกล้เรือนเคียง ไปมอบให้ผู้ประสบภัยบางส่วนที่สวนหลวง ร.9 อาคารพักน้ำบึงหนองบอน และวัดลานบุญ ลาดกระบัง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นครับ

 

ขอบคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์