จากที่ทางศบค.ชุดใหญ่ได้สั่งมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 ที่ได้ระบาดแพร่กระจายอย่างหนักในประเทศไทย ซึ่งมติศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบที่จะประกาศเคอร์ฟิวและล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง ทำให้กิจการ กิจกรรม และร้านค้ารายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนหลายคนออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลเยียวยาโควิด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งมาตรการที่จะเสนอให้กับ ครม.พิจารณาการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศ ศบค.
โดยล่าสุด มีข้อมูลรายงานว่า กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย กลุ่มธุรกิจและแรงงานก่อสร้าง ร้านอาหารและศิลปะ บันเทิง สันทนาการ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง ครม. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ สถานเสริมความงาม ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา ไปแล้ว ทั้งนี้แนวทางแบ่งเป็นรายละเอียดได้ดังนี้
1. แรงงานในระบบประกันสังคม กลุ่มลูกจ้างจะได้รับเงิน 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท
2. แรงงานสัญชาติไทยได้รับเงินพิเศษอีก 2,000 บาทต่อราย
3. กลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คน
ในขณะที่กิจการที่อยู่นอกระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือ เพียงแต่ต้องยื่นลงทะเบียนกับระบบประกันสังคมภายใน 1 เดือน ซึ่งจะมีข้อปฏิบัติและข้อจำกัดดังนี้
- ลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท
- นายจ้างได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คนเช่นกัน
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมที่จะถูกเสนอต่อ ครม. นั้นประกอบไปด้วย การเพิ่มเงินในโครงการ เราชนะ / ม.33 เรารักกัน และอาจจะมีโครงการใหม่ออกมาเพิ่มเติม ส่วนโครงการ คนละครึ่งเฟส 3 ที่ไม่สามารถซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือเดลิเวอรี่ได้นั้น ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมประชุมร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อเปิดทางให้เข้าร่วมโครงการนี้ได้
ทั้งนี้มองว่า จะช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง รวมถึงการพิจารณามาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยวันนี้ (13 กรกฎาคม 2564) จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้แถลงชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในการเยียวยารอบนี้ จะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งการใช้งบประมาณ อนุมัติโครงการต่างๆ จากรัฐบาล พร้อมทั้งยืนยันว่า จะสามารถทำได้เร็ว เพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที สำหรับกรณีประกันสังคมก็สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้เลย ยกเว้นโครงการที่ต้องใช้เงินกู้ ต้องผ่านคณะกรรมการแล้วเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป