ผู้ป่วยโควิด-19 ไร้การเชื่อมโยงป่วย "วัณโรค" เพิ่มขึ้น

18 กรกฎาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุขกลางอินเดีย เผยว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอสำหรับการยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างโควิด-19 กับจำนวนผู้ป่วยวัณโรค (TB) ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ

“ข้อจำกัดควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลให้การแจ้งพบผู้ป่วยวัณโรคลดลงราวร้อยละ 25 ในปี 2020 แต่ทุกรัฐของอินเดียกำลังพยายามลดผลกระทบดังกล่าวด้วยการค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในชุมชนอย่างเข้มข้นมากขึ้น” กระทรวงฯ ระบุ “ยิ่งไปกว่านั้นเรายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคนั้นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโรคโควิด-19 หรือจากการพยายามค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น”

 

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ คัดค้านรายงานของสื่อท้องถิ่นที่ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในกลุ่มผู้มีประวัติป่วยโรคโควิด-19

“กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองวัณโรคในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยวัณโรค ขณะรัฐต่างๆ ได้รับการร้องขอให้ร่วมเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020”

กระทรวงฯ ระบุว่าทั้งวัณโรคและโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่มุ่งทำลายปอดเป็นหลัก โดยแสดงอาการป่วยที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ไอ มีไข้ และหายใจลำบาก ทว่าวัณโรคจะมีระยะฟักตัวนานกว่าและเริ่มแสดงอาการช้ากว่า

“การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่ำลงและมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคแบบแสดงอาการ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (โรคที่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ) เช่นเดียวกับภาวะติดเชื้อราดำ (black fungus)” กระทรวงฯ กล่าวทิ้งท้าย

โควิด-19 วัณโรค ไร้การเชื่อมโยง