เช่น AstraZeneca และ Johnson & Johnson/Janssen ในต่างประเทศ อาจทำให้ประชาชนเป็นกังวลและไม่กล้าฉีดวัคซีนชนิดนี้นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนจนถึงวันที่ 11กรกฎาคม 2564 มีการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในคนไทยไปแล้ว 5,360,745 โดส และมีผู้ป่วยยืนยันอาการ VITT โดยคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ภายหลังการได้รับวัคซีน จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 26 ปี มีโรคประจำตัว คือ ไมเกรน มาด้วยอาการปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า มีค่าเกล็ดเลือดต่ำ ค่า D-dimer สูง และ Anti PF4/heparin antibody เป็นบวก อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับการรักษาด้วยยา intravenous immunoglobulin (IVIG) แล้ว ก็มีอาการดีขึ้น
ภาวะ VITT ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์น้อยกว่าต่างประเทศมาก คือ 1 : 5,000,000 ในขณะที่ต่างประเทศมีอุบัติการณ์ประมาณ 1 : 125,000 – 1 : 1,000,000 ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศไทยถึง 5-40 เท่า แม้จะเป็นภาวะที่อาจเกิดอาการรุนแรง แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย สามารถตรวจเกล็ดเลือดได้ทุกแห่ง และมีห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 78 แห่งที่มีความพร้อมในการตรวจ D-dimer หากแพทย์ พบว่า มีค่าเกล็ดเลือดต่ำ และ D-dimer สูง จะส่งตัวอย่างเลือด เพื่อยืนยันอีกครั้ง ด้วยวิธีที่เรียกว่า Anti PF4/heparin antibody และ Platelet activation assay ตามแนวทางของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายแพทย์ศุภกิจ ได้เสริมอีกว่า ในเดือนกรกฎาคมมีการปรับสูตรวัคซีน ทำให้มีผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca มากขึ้น หากผู้ได้รับวัคซีนคนใดมีอาการบ่งชี้ว่ามีอาจหลอดเลือดอุดตัน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังรุนแรง ขาบวม เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ตามัว เห็นภาพซ้อน หลังได้รับวัคซีนภายใน 30 วัน ให้รีบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล หากผลการตรวจเบื้องต้นเข้ากับภาวะ VITT แพทย์จะพิจารณารักษาทันที ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล ประเทศไทยมีความพร้อมในการตรวจและรักษาภาวะนี้