"หญิงตั้งครรภ์" ติดโควิด-19 เสี่ยงอาการหนัก-เสียชีวิต ควรรีบฉีดวัคซีน

20 สิงหาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าว “การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์” ว่า  ขณะนี้หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 รวมเข็ม 1 และเข็ม 2 เพียง 14,590 ราย ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณ 5 แสนคน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด 19 มีความเสี่ยงอาการหนัก ต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ 2-3 เท่าของหญิงไม่ตั้งครรภ์ และเสียชีวิต 1.5 – 8 คนในทุก 1,000 คน โดยเฉพาะหากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป อ้วน มีโรคประจำตัว และมีภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนด/ เด็กตายก่อนคลอด/ เข้าไอซียู 1.5 - 5 เท่า ติดเชื้อโควิดจากแม่ร้อยละ 3- 5 โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อมูลวิชาการรองรับว่าสามารถฉีดแบบซิโนแวคสลับแอสตร้าเซนเนก้าได้, แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ชนิด mRNA 2 เข็ม โดยอาจเกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับคนทั่วไป และควรฉีดห่างจากวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์

สธ.ชวนหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด 19

 

 

นายแพทย์เอกชัยกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนทำให้มีบุตรยาก หากฉีดวัคซีนไปแล้วพบว่าตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้เลื่อนไปฉีดเข็ม 2 หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และขอให้หญิงตั้งครรภ์ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ประเมินความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชันไทยเซฟไทย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม, ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป, มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ควรเน้นการทำงานที่บ้าน กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ ควรตรวจหาเชื้อด้วย ATK หรือไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หากติดเชื้อและไม่มีอาการให้แยกรักษาที่บ้านได้ หากเหนื่อยหอบ มีไข้สูงให้ไปโรงพยาบาลทันที กรณีแม่ติดเชื้อหลังคลอด หากลูกไม่ติดเชื้อ สามารถกอดและอุ้มลูก ให้ลูกดูดนมแม่ได้ โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังอุ้มลูก แต่งดหอมแก้ม หรืออาจใช้วิธีปั๊มนมให้คนเลี้ยงป้อนแทน จะงดให้นมแม่เฉพาะกรณีที่แม่กินยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น เนื่องจากยาจะออกมาทางน้ำนมได้

สธ.ชวนหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด 19

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 18 สิงหาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 2,327 ราย เฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน เสียชีวิต 53 ราย ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย จังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุดคือ กทม. รองลงมา คือสมุทรสาคร ปทุมธานี  ยะลา สงขลา ตามลำดับ สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 35 ปี อ้วนเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ธาลัสซีเมีย และมีประวัติฉีดวัคซีนแล้วเพียง 2 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว ที่ทำงาน ไปสถานที่แออัด